คมนาคมเดินหน้าพัฒนา “บางเสร่โมเดล” ผุดท่าเรือยอร์ช มารีน่ายอร์ชคลับฝั่งทะเลภาคตะวันออก หวังกระตุ้นการท่อง หนุนไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาและบูรณากาแนวทางการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการบางเสร่โมเดล ในการพัฒนาท่าเรือยอร์ช มารีน่ายอร์ชคลับและชายฝั่งทะเลว่า กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายที่จะพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำให้เป็นรากฐานสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการการเดินทางด้วยเรือยอร์ช และมีกำลังการใช้จ่ายในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเน้นย้ำให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นท่าเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว คือบริเวณหาดบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือ โครงการบางเสร่โมเดล  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเหมาะพัฒนาเป็นท่าเรือมารีน่า ให้สามารถรองรับเรือท่องเที่ยวเรือสำราญ (ยอร์ช) ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) งานเสริมทรายชายหาดป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายหาดบางเสร่ 

นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า โดยการศึกษาจะแบ่งการดำเนินงานศึกษาโครงการฯ ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 รวบรวมข้อมูลและศึกษาความต้องการของท่าเทียบเรือและชายหาดในพื้นที่โครงการ เพื่อกำหนดตำแหน่งทางเลือก รูปแบบการพัฒนาท่าเรือมารีน่า และแนวทางการเสริมทรายชายหาด ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน    120 วัน  แล้วเสร็จประมาณ  22 ก.ค.  65 , ระยะที่ 2  จะเป็นการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ประกอบด้วย  งานศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และความต้องการ ของประชาชนในพื้นที่เพื่อพัฒนาท่าเรือมารีน่า ในช่วงเวลา 150 วัน  คาดว่าแล้วเสร็จประมาณ 22 ส.ค.  65 และระยะที่ 3  งานออกแบบรายละเอียดการเสริมทรายชายหาดและศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)      ซึ่งต้องรอสรุปผลการศึกษาในระยะที่ 2 ก่อนว่ามีความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการฯ หรือไม่

นอกจากนั้นทาง กรมเจ้าท่ายังได้รายงานข้อมูลว่าในปัจจุบัน ท่าเรือยอร์ช มารีน่ายอร์ชคลับ ในประเทศไทยมีท่าเรือที่เข้าข่ายการเป็นท่าเรือมารีน่า จำนวน 13 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 8 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต ยอร์ช  เฮเว่น ,รอยัล ภูเก็ต มารีน่า, ภูเก็ต โบ๊ท ลากูน, อ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า, ท่าเรือสำราญกีฬาอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต กระบี่ โบ๊ท ลากูน, กระบี่ ริเวอร์ มารีน่า และพอร์ตตะโกลา ยอร์ช มารีน่า แอนด์โบ๊ทยาร์ด จังหวัดกระบี่ ภาคตะวันออก 4 แห่ง ได้แก่ โอเชียน มารีน่า ยอร์ชคลับ จังหวัดชลบุรี รอยัลเลคไซด์ มารีน่า จังหวัดฉะเชิงเทรา สยามรอยัลวิว เกาะช้าง และเกาะช้าง มารีน่า แอนด์รีสอร์ท จังหวัดตราด ภาคตะวันตก 1 แห่ง ได้แก่ เอเซอร์ มารีน่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์