คมนาคมร้อนฉ่าเร่งเคลียร์ปมแลกหนี้ทางด่วน

  • “ชัยวัฒน์” นั่งหัวโต๊ะถกคณะทำงานเคลียร์ปมแลกหนี้ทางด่วน
  • จี้บอร์ด กทพ.กลับไปรวบรวมทุกแนวทางหวังยุติข้อพิพาท
  • ส่ง “ศักดิ์สยาม” เคาะก่อน 27 ส.ค.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า จากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน แก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด นั้น พบว่าเมื่อวานนี้(9 ส.ค.)ได้มีการประชุม เป็นครั้งแรก เพื่อเร่งสรุปแนวทางยุติข้อพิพาทให้พิจารณาภายใน 15 วัน

โดยในรายละเอียดของการหารือครั้งนี้ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ได้มาชี้แจงถึงที่มาที่ไปของการพิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทด้วยการแลกสัมปทานทางด่วน 15 ปี กับข้อพิพาททั้งหมด 17 คดีที่มีร่วมกับบีอีเอ็ม ซึ่งในที่ประชุมได้ขอให้ กทพ.กลับไปนำแนวทางเลือกทั้งหมดที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ กลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ ก่อนจะเร่งสรุปข้อมูลเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 27 ส.ค.นี้

“คณะทำงานได้ถาม กทพ.ว่าข้อดี ข้อเสีย ของการเลือกแนวทางนี้มีอะไรบ้าง และเหตุผลที่เลือกแนวทางแลกสัมปทานเพราะอะไร หากเลือกแนวทางนี้แล้วจะส่งผลกระทบเงินทุน รายได้ หนี้สินต่อไปอย่างไรกับการทางฯ ขอให้การทางฯ กลับไปทำข้อมูลที่พิจารณามารายงานอีกรอบ พร้อมทั้งให้กลับไปเอาทางเลือกอื่นๆ ที่เคยศึกษากลับมาให้คณะทำงานพิจารณา เพราะท้ายที่สุดคนที่จะเป็นคนเลือกแนวทางที่เหมาะสมคือรัฐมนตรีว่าการฯ และเรื่องนี้ต้องรีบสรุปโดยเร็วเพื่อเข้า ครม.”

สำหรับ ข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม เกิดจากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ คือ ผลกระทบการสร้างทางแข่งขัน กรณีรัฐก่อสร้างดอนเมืองโทลเวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน – รังสิต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้รับสัมปทาน และกรณีไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามที่ระบุในสัญญา เป็นเหตุให้ผู้รับสัมปทานฟ้องร้อง กทพ. มีมูลค่าข้อพิพาทจาก 2 ประเด็น รวมทั้งประเด็นอื่นๆ จำนวน 137,517 ล้านบาท