คมนาคมระบุปฎิบัติการฟื้นฟูรักคุณเท่าฟ้า…แผนหารายได้ต้องชัด-มั่นใจกลับมายืนผงาดได้หากทุกคนช่วยกัน

  • “ศักดิ์สยาม”ย้ำ!แผนฟื้นฟูต้องมีแนวทางสร้างรายได้ชัดเจน
  • มั่นใจการบินไทยกลับมายืนผงาดได้อีกครั้งหากทุกคนช่วยกันจริงๆ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า  จากกรณีที่แผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่(5 พ.ค.)นั้น เนื่องจากมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ยังไม่ได้มีการจัดส่งมายังกระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับปรุงแผนฟื้นฟู การบินไทย ให้มีความชัดเจนมาขึ้นให้เป็นลักษณะของแผนปฎิบัติการ(action plan)ที่จะนำไปสู่การปฎิบัติได้จริง โดยตนได้มอบหมายให้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และ นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ร่วมกันดูในรายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปรับปรุง ก่อนที่จะมีการนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมสรุปผลอย่างเป็นทางการก่อนเข้า ครม. อีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)นั้นจะพบว่าแผนดังกล่าวไม่มีแผนการสร้างรายได้  ,แผนการบริหารหนี้, แผนรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการตามกรอบเวลาให้เห็นภาพที่ชัดเจน ขณะเดียวกันตามแผนตามยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการทุกแผนของ การบินไทย ระบุว่ามีความเสี่ยงในขณะปฎิบัติงาน ดังนั้นจึงทำให้มีข้อกังวลว่าหากแผนมีการดำเนินการและเกิดความเสี่ยงขึ้น การที่ภาครัฐบาลจะใส่เม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือ ที่จะมีขึ้นในอนาคตก็จะมีความเสี่ยงไปด้วยเช่นกัน 

นอกจากนั้นในแผนฟื้นฟูที่การบินไทยทำ ไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างไรบ้าง และไม่มีการประเมินเปรียบเทียบ หรือ ระยะเวลา หากการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด จบที่เดือนไหน ต้องใช้เงินในการฟื้นฟูเท่าไหร่ อย่างไร หรือ หากการแพร่ระบาดแล้วเสร็จ การบินไทย จะมีแผนการสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่ หรือ จัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ และจะมีแผนหาพันธมิตรที่จะมาร่วมดำเนินการเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งแผนที่ทำมาทั้งหมดเห็นได้ชัดว่าไม่มีความชัดเจน ที่จะแก้ไขปัญหา และ สร้างรายได้ให้กลับมา 

อย่างไรก็ตามในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทาง การบินไทย เองก็ต้องที่จะช่วยเหลือตัวเองที่จะรักษาองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้ร่วมกัน ไม่ใช่นึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก