คมนาคมฝันให้ไกลไปให้ถึงไทยเป็นฮับผลิตรถไฟฟ้า-ชิ้นส่วนอุปกรณ์

  • คมนาคมเดินหน้าตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถไฟ
  • รองรับความต้องการในอีก20ปีข้างหน้า12,000ตู้
  • ฝันไกลเป็นฐานการผลิตชิคังเซ็น และส่งออกประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี-จีน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมระบบราง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบแผนการจัดตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถไฟในประเทศไทย ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบราง รวมถึงแรงงานเฉพาะทาง ทั้ง คนขับรถไฟ หรือช่างซ่อมบำรุงรถไฟที่เป็นคนไทย เพื่อขยายผลรองรับการลงทุนของรัฐบาลด้านระบบรางมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทั้ง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับไทยให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบขบวนรถไฟ และอุปกรณ์อาณัติสัญญาณรถไฟ รวมถึงบุคลากรรถไฟจากต่างประเทศได้

ทั้งนี้จากข้อมูลจะพบว่าประเทศไทยมีอุตสาหกรรมพื้นฐานระบบรางที่เป็นโรงงานผลิตโครงสร้างตู้รถและตู้โดยสารจำนวน23ราย โรงงานผลิตระบบช่วงล่าง21ราย และโรงงานผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบตกแต่ง 35ราย แต่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกและยังมีจำนวนไม่มาก ในขณะที่ปัจจุบันไทยมีจำนวนตู้รถไฟทุกประเภทประมาณ 3,729 ตู้ แต่ประมาณการณ์ว่าในอีก20 ปี จะมีตู้รถไฟทั้งหมดเกือบ 12,000 ตู้

ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในปีนี้ ว่าภาคเอกชนสามารถที่จะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรองรับความต้องการของภาครัฐได้หรือไม่ โดยกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะทำแผนระบุในเอกสารการประกวดราคา(ทีโออาร์) โดยมีเป้าหมายว่า ในแต่ละปีต้องซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศหรือผู้ผลิตที่มีแผนลงทุนผลิตในประเทศไทยเท่านั้นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ และสุดท้ายต้องกำหนดให้มีการส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด ทั้งนี้การเขียนทีโออาร์ดังกล่าวถือว่าค่อนข้างล็อคสเปก จึงจำเป็นต้องดูความสามารถของภาคเอกชนในการผลิตชิ้นส่วนรถไฟรองรับด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อได้ข้อสรุปจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ก่อนกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินงานตามเป้าหมายว่าจะเริ่มตั้งแต่ปีไหน ตลอดจนวางแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมโรงงานระบบรางในไทยอย่างยั่งยืน โดยระยะแรกเน้นประโยชน์การใช้งานในประเทศ และในระยะต่อไป คือส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงในอนาคตญี่ปุ่นอาจขอให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟชินคังเซ็นก็ได้ เพราะญี่ปุ่นมีค่าแรงที่แพงกว่าไทย อีกทั้งอาจส่งออกไปประเทศจีนได้ด้วย

สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถไฟนั้นบีโอไอมองว่าน่าจะเป็นจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น และนครราชสีมา รวมถึงสระบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ควรส่งเสริมบีโอไอพิเศษ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าควรส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานในจังหวัดที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟทั้งหมด เพื่อสร้างอุตสาหกรรมและแรงงานในพื้นที่