คมนาคมจัดเต็มเตรียมรถไฟ-รถบัสไม่อั้นขนผู้ป่วยโควิดกลับมาตุภูมิ-ไม่ได้ยกเลิกตามข่าวลือ

คมนาคมเร่งประสานสาธารณสุข เดินหน้าพาผู้ป่วยโควิดกลับบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้ เริ่มเดินรถขบวนแรกพรุ่งนี้ 27 ก.ค. ด้านผู้ป่วยอ่านทางนี้ 3 ขั้นตอนได้เดินทางกลับบ้านเกิดรักษาตัว ให้ขอเดินทางผ่านสายด่วน สปสช. 1330 สพฉ.ไปรับถึงที่พักอาศัย ไม่มีกรณีเดินทางมา ณ จุดขึ้นรถเอง ย้ำทุกเส้นทางเป็นขบวนพิเศษไม่ปะปนประชาชนทั่วไป พร้อมสนับสนุนการจัดส่งผู้ป่วยทุกจังหวัดในโมเดลเดียวกัน “ศักดิ์สยาม”ย้ำ!หากพบมีปริมาณความต้องการเดินทางของผู้ป่วยมากคมนาคมพร้อมเสริมทัพจัดระบบ ขนส่งทางบก-ทางราง บูรณาการทุกภาคส่วนขนเต็มที่ 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่20 กรกฎาคม64 มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนรับผิดชอบการส่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัส Covid-19 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล กลับไปเข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนานั้น ในเรื่องนี้ในส่วนของกระทรวงคมนาคมยังยืนยันที่จะจัดขบวนรถไฟ CNR เที่ยวพิเศษเพื่อจัดส่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัส Covid-19 เข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนา 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานีอำนาจเจริญ ยโสธร และ นครราชสีมา เช่นเดิม ไม่ได้ยกเลิกการให้บริการจัดส่งผู้ป่วยโควิด แม้ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางกับรถไฟขบวนพิเศษน้อยก็ตาม และจะเปลี่ยนการโดยสารต้นทางผู้ป่วยจากสถานีหัวลำโพง เป็นด้านทิศเหนือของสถานีรังสิตแทน เพื่อไม่ให้มีการสัมผัสกับประชาชนทั่วไปและจุดดังกล่าวไม่มีการใช้งาน

ทั้งนี้ในการส่งผู้ป่วยโควิด-19 จากกรุงเทพฯและปริมณฑล กลับภูมิลำเนา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกันกำหนดแนวทางและวางระบบการดูแลจัดส่งผู้ป่วยโควิดกลับอย่างปลอดภัยไม่ให้มีการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง  

สำหรับการร่วมมือดังกล่าว จะมีการแบ่งขั้นตอนการประสานจัดส่งผู้ป่วย ความพร้อมของทั้งส่วนกลาง กับจังหวัดปลายทาง ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยมีความพร้อมดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะใน 7 จังหวัด มีความพร้อมทั้งในส่วนจุดรับเมื่อผู้ป่วยถึงจังหวัด ขั้นตอนการคัดกรอง และพื้นที่ให้การรักษาผู้ป่วยทั้งส่วนที่เป็นศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล  

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้นขณะนี้มีความพร้อมที่จะรับส่งผู้ป่วยแล้ว โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กรมขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้จัดขบวนรถ รวมถึงได้ออกแบบเส้นทางการขนส่ง การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการ มีความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติเพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข  ซึ่งหน่วยงานแรกที่จะเริ่มส่งผู้ป่วยได้ คือ รฟท.  โดยมีการเตรียมแผนที่ให้บริการรถไฟสายอีสานใต้ ผ่านนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เริ่มให้ส่งผู้ป่วยตั้งแต่วันพรุ่งนี้(27 ก.ค. 2564) เป็นต้นไป

“ในส่วนของกระบวนการรับและส่งผู้โดยสารโดยหน่วยงานของคมนาคม ได้สั่งการย้ำว่าทุกขบวนจะต้องเป็นขบวนพิเศษทั้งกรณีรถของ บขส. หรือรถไฟ  ทั้งพื้นที่และเวลาการขนส่งผู้ป่วยจะต้องแยกกับผู้โดยสารทั่วไป เพราะประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดคือความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป โดยหากจังหวัดอื่นๆ มีการประสานเข้ามา กระทรวงคมพร้อมจะสนับสนุนการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้โมเดลเดียวกันกับ 7 จังหวัดนี้”นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับขั้นตอนที่ผู้ป่วยมีความประสงค์ที่จะเดินทางต้องดำเนินการใน 3 ขั้นตอนนี้ คือ 1.ผู้ป่วยต้องแจ้งความประสงค์ผ่าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และแสดงความ ประสงค์ผ่านระบบ Call center จังหวัดภูมิลำเนา และได้รับการดูแล คัดกรอง ตรวจสอบสภาพ ความพร้อม และอาการเบื้องต้นจาก สพฉ. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานในการดูแล ผู้ป่วยจากที่พักมายัง สถานีต้นทาง และดูแลอาการ สุขอนามัย ตามมาตรฐานด้านการสาธารณสุขอย่างเข้มงวดตลอด การเดินทาง

2. รฟท. จะเป็นผู้ดูแล และอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง จนถึง จังหวัดปลายทาง ขณะที่ผู้ป่วยโดยสารในขบวนรถไฟ และ 3. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูมิลำเนา และหน่วยบริการสาธารณสุข หน่วยทหาร และขนส่งจังหวัดจะเข้ามาร่วมในการรับ – ส่ง ผู้ป่วยจากสถานีรถไฟจังหวัดปลายทาง ไปยังสถานพยาบาลที่จังหวัด จัดเตรียมไว้ให้

นอกจากนี้ ระหว่างการส่งผู้ป่วยโดยรถขบวนพิเศษนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตรวจ ไปกับขบวนรถเพื่อดูแลผู้ป่วย และความเรียบร้อยในขบวนรถ มีการแยกกลุ่มผู้ป่วยที่ชัดเจน เช่น กรณีของ รฟท.จะมีการแยกโบกี้ระหว่างผู้ป่วยกลุ่มยืนยันด้วยผลตรวจ RT PCR positive กับกลุ่มผลตรวจ ATK positive เพื่อป้องกันกรณีที่ผู้มีผลตรวจ ATK positive คลาดเคลื่อนมาปะปนกับผู้ที่ผลตรวจชัดเจนแล้ว และก่อนออกเดินทาง สพฉ. จะมีการประเมินอาการของผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ออกเดินทาง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง