คมนาคตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี73เพื่อส่งเสริม ผลักดันให้ประเทศไทยมีการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืน

เยอรมนีจับมือประเทศไทยสนับสนุนมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการขนส่ง ด้านคมนาคตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 73เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III–Facilitating the Development of Ambitious Mitigation Actions) เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของความร่วมมือในการส่งเสริมการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืนของประเทศไทย ว่า  ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และการปรับปรุงการใช้รถโดยสารประจำทาง โดยการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ภายในปี 2573

และหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทยจะมาสามารถยกระดับเป้าหมาย NDC ขึ้นเป็น 40% และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2608 ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ได้” 

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สนข. และ GIZ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาการขนส่งที่มีความท้าทาย เช่น การจราจรติดขัด และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และถึงแม้ว่าการดำเนินโครงการ TRANSfer กำลังจะสิ้นสุดลง แต่ สนข. จะยังมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ของโครงการ TRANSfer ต่อไป เช่น การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออากาศสะอาดเพื่อปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ  

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ต่ำกว่ารถโดยสารประจำทางที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึง 23% เนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่ต่างกันถึง 3 เท่า และหากมีการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า 3,200 คันได้ ก็จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 184,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทางยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว