คนเชียงใหม่รออีกนิดได้นั่งแน่รถไฟฟ้า!ปี65เริ่มก่อสร้าง

  • “รถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง” 2.7 หมื่นล้าน สุดฮอต!
  • ธนาคาร-นักธุรกิจท้องถิ่นสนใจลงทุน ด้านแหล่งเงินหายห่วง หลัง “แบงค์จีน” พร้อมหนุน
  • เล็งเปิดใช้ปี 70 ตามแผน พ่วงเดินหน้าโปรเจ็กต์ “ภูเก็ต-โคราช-พิษณุโลก”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่ รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเมืองหลักในภูมิภาค 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และภูเก็ต ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของแต่ละโครงการซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าที่เชียงใหม่นั้นตามแผนงานเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 จากนั้นจะเสนอรายงานผลการศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุน (PPP) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจาก ครม. ประมาณกลางปี 2564 เริ่มก่อสร้างภายใน มี.ค. 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2570

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาคที่ รฟม.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการนั้น ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงินลงทุนโครงการ 27,000 ล้านบาท ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี โดยมีรูปแบบเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา

ในส่วนของการลงทุนนั้น จะให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) สัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยมีมูลค่าโครงการ 27,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน และค่างานโยธา ที่รัฐบาลจะลงทุนประมาณ 80% ของมูลค่าโครงการฯ หรือวงเงิน 17,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้า 20% ของมูลค่าโครงการฯ หรือวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) จะอยู่ที่ประมาณ 13%

ขณะที่ ปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 คนในปีแรกที่เปิดให้บริการ โดยชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสาร 1,200 คน/ชั่วโมง และเพิ่มขึ้นเป็น 42,300 คนในปี 2600 ในส่วนของอัตราค่าโดยสารนั้น เบื้องต้นจะเริ่มต้นที่ 15-30 บาทต่อคนต่อเที่ยว

“ปัญหาการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงที่กังวลนั้น มี 2 เรื่อง คือ 1.การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการส่งมอบพื้นที่ 2.การรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดิน แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน เพราะได้รับความร่วมมือจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในส่วนของการทำความเข้าใจกับผู้ที่ถูกเวนคืน รวมไปถึงการอนุรักษ์เมืองระดับโลก ซึ่งทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายภคพงศ์ กล่าว

นายภคพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นความสนใจของนักลงทุนเอกชน (Market Sounding) นั้น เบื้องต้นพบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการธนาคาร และนักธุรกิจท้องถิ่นให้ความสนใจลงทุนโครงการดังกล่าว ขณะที่กลุ่มธนาคารจากประเทศจีน ให้ความสนใจในการสนับสนุนด้านของแหล่งเงินทุนด้วย ขณะที่ นักลงทุนเอกชนจากต่างประเทศนั้น จะลงทุนในส่วนซัพพลายเออร์ และงานระบบ

ในด้านของการเดินรถนั้น จะเป็นนักลงทุนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีระยะเวลายาว คล้ายกับการเดินรถรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน มีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

นายภคพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานฯ-ห้าแยกฉลอง รูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ LRT) ที่ รฟม. ได้รับมอบหมายนั้น ถือเป็นโครงการที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยมีระยะทาง 42 กม. จำนวน 21 สถานี วงเงินลงทุนโครงการรวมประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา ก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการ PPP และ ครม. ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วง มี.ค. 2568

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการช่วง เม.ย. 2565 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายใน ก.ค. 2568 ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วง ม.นเรศวร-เซ็นทรัลฯ พิษณุโลก ตามที่ มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าฯ จังหวัดพิษณุโลกนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะเริ่มกระบวนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา และออกแบบโครงการต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปลายปี 2569

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก รฟม. ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี มีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลนครพิงค์ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,600 คัน และรถจักรยานยนต์ 800 คัน และบริเวณที่ว่างข้างสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,200 คัน และรถจักรยานยนต์ 2,800 คัน มีศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการตั้งอยู่บริเวณแยกหนองฮ่อ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ไร่