คนกลัวอะไรเมื่อ “เงินเฟ้อ” สูง

หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ ได้รับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี2565 ขึ้นไปสูงกว่าที่หลายคนคาดไว้เดิม หลานคนอาจจะเริ่มรู้สึกถึง “แรงกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น

โดย ธปท.ซึ่งเป็นคนดูแลกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินของประเทศประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ไว้ที่ 4.9% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลตะกร้าราคาเงินเฟ้อ และราคาสินค้าของประเทศ ประเมินไว้ที่ 4-5% 

ทั้งสองหน่วยงานมองตรงกันว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อาจจะอยู่ในระดับ 5% หรือทะลุ 5% ขึ้นไปอีก และค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องปีหน้า

ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับขึ้นไปในระดับสูงกว่าเช่นเดียวกัน โดยในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม โดยอัตราเงินเฟ้อทั้งในสหรัฐ และประเทศยุโรปบางประเทศสูงขึ้นทะลุ 7% 

ถามว่า เราควรกลัวอะไรจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น และเตรียมรับมืออย่างไร

ก่อนอื่น ต้องรู้สาเหตุของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากในรอบนี้ก่อน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรอบนี้ จริงๆ หลายคนอาจจะมองว่าเป็น การเพิ่มขึ้นแรงจาก ซัฟพลาย์ช็อก หรือ ปริมาณสินค้าจำเป็น หรือสินค้าต้นทุนที่มีอยู่ในตลาดลดน้อยลงอย่าวรวดเร็ว 

โดยในกรณีนี้มาจากปริมาณพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง ที่เกิดภาวะช็อกจากความขัดแย้งและสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งต้นทุนราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น หลังจากปริมาณอาหารสัตว์ที่ผลิตและส่งออกหลักจาก 2 ประเทศดังกล่าวลดลง

แต่หากมองย้อนกลับไป อัตราเงินเฟ้อของโลกเริ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งความต้องการซื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากหลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว แต่สินค้าและบริการผลิตมาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จ่ายที่อัดอั้นมานาน (revenge spending) จากช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะคนที่มีเงินออมสะสมไว้เยอะในช่วงโควิด โดยราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนจาก record low ในช่วงปี 2020 ที่ล็อกดาวน์เข้มมาทำ record high หลังประเทศต่าง  ทยอยเปิดเมือง

นอกจากนั้น ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นยังมาจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน (supply chain disruption) โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

แสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ มาจากทั้งด้าน คนซื้อ คนขายและต้นทุน ดังนั้น สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเป็นวัฎจักรไก่กับไข่กับอัตราเงินเฟ้อ ก็คือ ราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่คนกังวลจากสัญญาณเงินเฟ้อสูง 

โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมัน และอาหาร ซึ่งหนึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของสินค้าทั่วโลก และอีกหนึ่ง เป็นต้นทุนชีวิตที่ต้องการเพื่อความอยู่รอดของทุกคน คือ ราคาสินค้าที่สูงขึ้นจาก “ต้นทุน” จะถูกส่งผ่านไปยัง “ราคาขายสินค้า” ทั่วไปเป็นวงกว้าง (Second-round effects ) ซ้ำเติมให้ข้าวของแพงมากขึ้นไปอีก และกระทบต่อฐานะการเงินของครัวเรือนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และหนี้ครัวเรือนสูง

สิ่งที่ต้องกลัวต่อมา คือ เมื่อผู้คนเริ่มปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อว่าจะอยู่ในระดับสูง หรือคิดว่าต่อไปข้าวของจะราคาแพงขึ้น ก็ปรับพฤติกรรมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง (self-fulfilling inflation spiral) เช่น ผู้บริโภคเร่งใช้จ่าย กักตุนสินค้า เพราะกลัวเงินเฟ้อสูง ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาสินค้าในวงกว้าง และแรงงานเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้าง วนเวียนไปสร้างเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไปอีก

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่กลัวกันอีกเรื่องเมื่อเงินเฟ้อสูงคือ การลดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย และผลลัพธ์ต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยช่วงที่ผ่านเมื่อเศรษฐกิจของประเทศในโลกตะวันตก ที่ตัดสินใจไม่ใส่ใจโควิด-19 ฟื้นตัว เราเริ่มเฟ็นธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งเร่งขึ้น และกำลังเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ หลังเห็นสัญญาณเงินเฟ้อคาดการณ์ของครัวเรือนและธุรกิจสูงขึ้นมากเกินกรอบเป้าหมาย

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป 

ซึ่ง “ดอกเบี้ย” ถือเป็นต้นหลักที่สำคัญที่สุด และเมื่อดอกเบี้ยขึ้น จะส่งผลต่อกาชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประชาชน และแม้แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และที่สำคัญที่สุด หากฝ่ายนโยบายเหยียบเบรกเศรษฐกิจแรงเกินไป อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวหยุดชะงักแรงเกินไปหรือที่เรียกกันว่า Hard Landing 

ขณะที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และยังไม่รีบปรับทิศทางนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายน้อยลงเร็วไปในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ ธุรกิจยังไม่รีบปรับขึ้นราคา แต่ในอนาคต หากมีความจำเป็นแบงก์ชาติเองก็อาจจะต้องเลือกใช้ “ยาขม”

ทั้งหมดนี้ ความเสี่ยงที่สูงที่สุดในขณะนี้ที่ต้องจับตาคือ ผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน และผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทั้งจากฝั่งตะวันตกต่อรัสเซีย และรัสเซียต่อชาติปรปักษ์ว่าจะกระทบต่อระบบการค้าทั่วโลกอย่างไร รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วันนี้ ยังคงกลายพันธุ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง หากสายพันธุ์เพิ่มทั้งความเร็วในการติดเชื้อ และความรุนแรงของโรค

ในโลกเศรษฐศาตร์ มองว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จะกระทบต่อคนมีรายได้น้อยมากที่สุด ขณะที่คนมีรายได้มากกว่าจะยิ่งประหยัด เพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์ข้างหน้า ขณะที่นักธุรกิจจะเน้นประคองธุรกิจ แต่ไม่ตัดสินใจลงทุนเพิ่ม 

และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ เราอาจจะเข้าสู่ยุคซบเซายาวนาน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แม้มูลค่าของเศรษฐกิจจะเริ่มกลับเข้าสู่ยุคก่อนโควิดได้ในต้นหรือกลางปีหน้า แต่คุณภาพชีวิตแย่ลง