คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเคาะแผนและมาตรการรองรับ “โควิด” เป็นโรคเฝ้าระวังเริ่ม 1 ต.ค.นี้

  • ผู้ป่วยอาการน้อย-ไม่แสดงอาการ
  • คุมเข้ม DMHT 5 วันแทน
  • เข้าประเทศไม่ต้องแสดงใบฉีดวัคซีนหรือ ผลตรวจ ATK

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 มีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนโควิด 19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวนหนึ่งที่ต้องขอให้มารับวัคซีนให้ครบ เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด โดยจะปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ซึ่งได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค 2) ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล 3) ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และ 4) ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความพร้อมทุกด้าน โดยจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น

ส่วน เรื่องที่ 2 ได้เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK โรคโควิด 19 ยกเว้นโรคไข้เหลืองที่ยังดำเนินการตามปกติ, ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยยังคงการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่, ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่แสดงอาการให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบอีก 4 เรื่อง คือ 1.แผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิด 19 (วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม) ในเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 2.แนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ของประเทศไทย ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ในประชาชนกว่า 3.5 พันคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด 19 ต่อไป 3.แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด 19 หลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป และ 4.โครงการการใช้ยาคลอโรควินเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีการระบาดบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา