คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันในตลาดโลกได้

.และยกระดับ 14 เมืองสมุนไพรให้เข้มแข็ง

.ส่งเสริมการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว

.รองรับความต้องการภายในประเทศ

ผู้สื่อรายงานว่า เมื่อวันที่17 กันยายน 2563 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายแพทย์ มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุม

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก จึงได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิจัย ผลิตสมุนไพรไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยา เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เครือข่ายนักวิชาการ เร่งพิสูจน์ความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประกาศเป็นรายการผลิตภัณฑ์สมุนไพรอ้างอิง เพื่อให้การอนุมัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีความรวดเร็ว ลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสารขออนุญาตของผู้ประกอบการ ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีระบบการให้คำปรึกษาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อยู่ระหว่างการวิจัย

และส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพร และพัฒนาระบบการรับรองสารสกัดสมุนไพรที่ใช้สำหรับใช้อ้างอิงในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการส่งออก เป็นการส่งเสริมการตลาด เพิ่มมูลค่าการส่งออก รวมทั้งได้ตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร เพื่อให้คำปรึกษาผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการจัดอบรมยกระดับผู้ประกอบการ ส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการตลาด และให้ข้อมูลผู้ประกอบการสมุนไพรแบบครบวงจร (One Stop Service) พร้อมสนับสนุนสมุนไพรเป็น Product Champions

นายสาธิต กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ ยังมีมติเห็นชอบให้ยกระดับเมืองสมุนไพรทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ การเกษตรวัตถุดิบสมุนไพร (อำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร) อุตสาหกรรมสมุนไพร (นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม (เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา)