คจร.ไฟเขียวสร้าง MR – Map 10 เส้นทางทั่วไทยมั่นใจแก้ปัญหาจราจร เชื่อมโยงโลจิสติกส์ไทย-เพื่อนบ้าน

คจร.ไฟเขียวแผนแม่บทพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งมวลชนถนน ราง สร้าง MR – Map 10 เส้นทางทั่วไทย ดันนำร่อง 4เส้นทางที่มีศักยภาพก่อน พร้อมเดินหน้าสร้างระบบขนส่งสาธารณะเข้าอีอีซี-จัดรถฟีดเดอร์เข้าสถานีรถไฟฟ้ารังสิต 3 เส้นทาง มั่นใจแก้ปัญหาจราจร เชื่อมโยงโลจิสติกส์ไทย-เพื่อนบ้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติ ร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR – Map(ทางด่วนร่วมมอเตอร์เวย์-ทางรถไฟ) ที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ 10 เส้นทาง มีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร และได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างนำร่องก่อนใน 4 โครงการที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 91 กิโลเมตร 2. เส้นทาง MR 10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 283 กิโลเมตร 3. เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง ระยะทาง 297 กิโลเมตร และ 4. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี ระยะทาง 404 กิโลเมตร โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR – Map

สำหรับสาเหตุที่มีการอนุมัติเห็นชอบ เนื่องจากหากมีการดำเนินการในโครงการจะเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณาการระหว่างระบบรางและถนนในการพัฒนาโครงข่ายให้เป็นระบบเชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและประตูการค้า แก้ปัญหาจราจร ลดปัญหาการเกิดคอขวดของการเดินทางทั้งระบบถนนและระบบรางของทั้งประเทศ

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เห็นชอบอนุมัติในหลักการให้จัดทำระบบฟีดเดอร์(Feeder ) จากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ออกไปยังชุมชน จำนวน 3 เส้นทาง โดยใช้รถโดยสารขนส่งมวลชนแบบพิเศษตามมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดปทุมธานี และคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้จังหวัดปทุมธานี กรมการขนส่งทางบ(ขบ.) และกรมทางหลวง(ทลง) เร่งดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้ และรายงานผลการดำเนินการให้ คจร.รับทราบ  

โดยเส้นทางระบบฟีดเดอร์เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้ารังสิตจำนวน3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ธัญบุรีคลอง 7 ใช้เส้นทางถนนรังสิต-นครนายก(ทล.305) ระยะทางประมาณ 19.3 กม. , เส้นทางที่ 2 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) โดยใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนคลองหลวงหน้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทางประมาณ 19.1 กม. เป็นระยะแรกก่อน หากสถานีรถไฟฟ้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) เปิดใช้ ก็ปรับเส้นทางต่อไป และ เส้นทางที่ 3 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – แยก คปอ. ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ระยะทาง 10.6 กม. ส่วนรถฟีดเดอร์ที่จะนำมาให้บริการนั้น จะต้องสอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) หาผู้ประกอบการเดินรถด้วยมาตรฐาน EV ขณะเดียวกันรถจะต้องรองรับผู้พิการด้วย ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางต่อไป

นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการอนุมัติ แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan : EPMP)และแก้ไขปัญหาจราจร  และได้มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาผลักดันแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงาน สามารถขับเคลื่อนแผนต่าง ๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้