ขอปรับ!…รถไฟฟ้ารางเบา“ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช” แปลงร่างเป็นรถรางล้อยางเหตุลดต้นทุนก่อสร้างได้เพียบ

รฟม.เพิ่งนึกได้ขอปรับรูปแบบก่อสร้าง แทรม “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช” แปลงร่างเป็น ART นำร่อง “ภูเก็ต” เตรียมลงพื้นที่ พ.ย.นี้ ทำความเข้าใจประชาชน-ผู้ประกอบการ ลดกระแสต้าน ชี้ไม่ต่างจากแทรม แต่ช่วยเซฟเงินได้ 40% คาดปีหน้า ครม. ไฟเขียว เปิดประมูลปี 66 ก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 70 ขณะที่ “พิษณุโลก” รอรถไฟไฮสปีดมาก่อน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)ในภูมิภาคว่า รฟม. ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการฯ แต่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากแทรมเป็นรถรางล้อยาง (Automated Rapid Transit : ART) ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นการใช้ระบบดังกล่าว สามารถช่วยลดวงเงินการก่อสร้างได้ประมาณ 40% ทั้งนี้จะนำร่องที่โครงการแทรมภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เป็น ART ก่อน โดยช่วยลดค่าก่อสร้างได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีกระแสค่อนข้างมากจากหลายหน่วยงาน และประชาชนว่า อยากให้ใช้แทรมล้อเหล็กเหมือนเดิม แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และติดข้อจำกัดในการเดินทางข้ามจังหวัด จึงยังไม่ได้ลงพื้นที่ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แต่ขณะนี้สถานการณ์ฯ เริ่มคลี่คลาย มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง คาดว่าเดือน พ.ย.นี้ จะลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชน เกี่ยวกับระบบ ART ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับแทรมมากนัก ความจุผู้โดยสารก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่การลงทุนถูกลง สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้น้อยลง ดังนั้นหากจะให้โครงการเกิดได้เร็ว จึงต้องช่วยกันลดต้นทุนโครงการฯ

นอกจากนี้ต้องทำเรื่องการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนอีกครั้ง และปรับปรุงรายงานการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) คาดว่าประมาณต้นปี 65 รฟม. จะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะได้รับอนุมัติจาก ครม. ในไตรมาส 4 ปี 65 และเริ่มขั้นตอนการประกวดราคา(ประมูล)ในปี 66 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 70

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการแทรมเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 15.8 กม. และโครงการแทรมนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.17 กม. นั้น จะลงพื้นที่ทำความเข้าใจในลักษณะเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต ส่วนโครงการแทรมพิษณุโลก สายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก – เซ็นทรัลพลาซ่า) ระยะทาง 12.6 กม. ยังไม่ได้ศึกษา ต้องรอแผนงานการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน เพราะผลการศึกษาเบื้องต้นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ระบุว่าปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการขึ้นอยู่กับการเปิดใช้สถานีรถไฟไฮสปีดที่ จ.พิษณุโลกด้วย ดังนั้นหากก่อสร้างไปก่อนอาจไม่มีผู้มาใช้บริการ