ขนส่งทางราง จับมือ กปถ. เร่งแก้จุดตัดทางถนน ทางรถไฟแบบเร่งด่วน 35 จุด มั่นใจป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ประชาชนปลอดภัย

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน สัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.)ว่า จากสถิติที่ผ่านมาในช่วงระหว่างปี 58 – 64 พบว่ามีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเกิดขึ้น 437 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 162 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 434 ราย ยังไม่รวมผู้พิการจากอุบัติเหตุอีกจำนวนหลายราย ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาการจราจรติดขัด ผ่านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง โดยได้เร่งปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบัน พัฒนารถไฟทางคู่ ก่อสร้างรถไฟสายใหม่ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้มีการออกแบบแก้ไขปัญหาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเป็นจุดตัดต่างระดับ ทั้งสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ สะพานกลับรถข้ามทางรถไฟ ทางลอดใต้ทางรถไฟ สะพานรถไฟแบบยกระดับ รวมทั้งยกเลิกจุดตัดทางผ่านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ไปรวมใช้ทางผ่านต่างระดับโดยการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ขร. ได้ลงสำรวจจุดตัดทั่วประเทศกว่า 2,975 จุด พบว่า ยกเลิกใช้แล้ว 218 แห่งและเป็นจุดตัดต่างระดับแล้ว 621 จุด คงเหลือจุดตัดเสมอระดับ 2,136 จุด ประกอบด้วย ทางผ่านที่มีเครื่องกั้นแล้ว 1,358 จุด  ทางผ่านที่เป็นป้ายจราจร 152 จุด  และทางลักผ่าน 626 จุด รวมทั้งได้มีการรับฟังความคิดในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ  เพื่อนำมาจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ โดยแบ่งเป็นเส้นทางรถไฟทางคู่ในปัจจุบัน ทางคู่ในอนาคต และทางเดี่ยว ซึ่งมีจุดตัดที่ต้องแก้ไขในระยะด่วน 35 จุด ระยะสั้น 74 จุด ระยะกลาง 308 จุด และระยะยาว 316 จุด 

“ระยะเร่งด่วน 35 จุด โดย ขร. ได้ออกแบบรายละเอียด พร้อมประมาณการราคา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกวดราคาและก่อสร้างเพื่อแก้ไข ซึ่งโครงการนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่พัฒนาโครงข่ายทางรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเชื่อมโครงข่ายทางรถไฟสู่สากล และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนได้”