“กู้วิกฤตโควิด-19”:กี่ล้านเหรียญฯจะพอ?

หลังจากช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข็นมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกมาแล้ว 3 ชุด วงเงินรวม 2.3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 12% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP และคาดว่าในเร็วๆ นี้ อาจจะมีมาตรการเยียวยาชุดที่ 4 ออกมาเพิ่มเติม หากยังต้องขยายการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกในช่วง 1 เดือนข้างหน้า

ทำให้มีคำถามว่า เราจะต้องใช้เงินเท่าไร และเวลานานแค่ไหน จึงจะกู้เศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ได้

และคำถามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศก็เกิดปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยทุกประเทศต่างเร่งออกมาตรการจำนวนมากเพื่อเยียวยาผลกระทบ และอีกเรื่องที่เหมือนกันคือ การตัดสินใจทุ่มงบประมาณลงไปแบบไม่อั้น เพราะรู้ดีว่าผลกระทบจากกสนสั่งให้ร้านรวง  ร้านอาหาร สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงงานปิดทำการ ทำให้คนจำนวนมากขาดรายได้ อีกหลายล้านคนตกงาน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง โดยนักวิเคราะห์จ ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 หากยื้ดเยื้อต่อไปตลอดปีนี้ อาจจะทำให้เศรษฐกิจซบเซามากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสาตร์ของโลก

วันนี้ ลองมาหาคำตอบกันว่า ทั่วโลกเขาใช้มาตรการอะไร และใช้เงินเท่าไรสำหรับกอบกู้วิกฤตครั้งนี้

ทั้งนี้ ส่วนแรก สำหรับตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และภาคธุรกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกจะคล้ายๆกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญคือ 1. มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและ SMEs 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน และ 4. มาตรการรักษาเสถียรภาพ 

ส่วนประเทศที่ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด (เท่าที่รวบรวมในขณะนี้) หนีไม่พ้น “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งมีการใช้วงเงินในการออกมาตรการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 30% ต่อ GDP

โดยรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่างมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยในส่วนนโยบายการคลัง จะมีการใช้จ่ายภาครัฐประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10% ต่อ GDP และเป็นการค้ำประกันสินเชื่อ มูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ณ หรือ 20%ต่อ GDP

ขณะที่ พี่เบิ้มฝั่งยุโรป “เยอรมนี” ประกาศใช้เงินในมาตรการเยียวยาครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 976,000 ล้านยูโร  หรือสูงถึง 30.1% ต่อ GDP และเป็นครั้งแรกที่ รัฐบาลเยอรมนี ตัดสินใจยอมผ่อนปรนการรักษาวินัยทางการคลังด้วยการก่อหนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 56 เพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบมาก โดยรัฐบาลเยอรมนี ใช้เงินในส่วนการคลัง ด้วยมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่ารวม156,000 ล้านยูโร หรือ 4.8% ต่อ GDP ขณะที่ประกาศวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเพิ่มเติมกว่า 820,000ล้านยูโร  หรือ 25.3% ต่อ GDP

ด้าน “ฝรั่งเศส” ประกาศมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่า 18.1% ต่อ GDP ในวงเงินสูงถึง 425,000 ล้านยูโร โดยเป็นมาตรการการคลังมูลค่า 110,000 ล้านยูโร หรือ 4.7% ต่อ GDP และเป็นมาตรการการเงิน เพื่อค้ำประกันสินเชื่อกว่า 315,000 ล้านยูโร  หรือ 13.4% ต่อ GDP โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เป็นสำคัญ

สำหรับ “อิตาลี “ประเทศที่เสียหายรุนแรงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต และความเสียหายต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลประกาศ พรก. เพื่อออกมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยวงเงินทั้งสิ้น 775,000 ล้านยูโร หรือสูงถึง 47.8% ต่อ GDPทั้งการสนับสนุนสภาพคล่องและค้ำประกันสินเชื่อ และการใช้มาตรการการคลัง

มาที่ รัฐบาลสเปน ได้ประกาศมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่า 32,000 ล้านยูโร หรือ 2.7% ต่อ GDP  และยังมีการประกาศวงเงินค้ำประกันสินเชื่อมูลค่า 182,000 ล้านยูโร  หรือ 15.4% ต่อ GDP ทำให้สเปนใช้เงินสำหรับมาตรการเยียวยาทั้งสิ้น 214,000 ล้านยูโร หรือ 18.1% ต่อ GDP

ด้าน ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสิน 412,200 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นวงเงิน 18.7% ของ GDP  ขณะที่ รัฐบาลและธนาคารกลางออสเตรเลีย ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และเพื่อให้ธุรกิจรักษาระดับการจ้างงานไว้ได้ ภายใต้วงเงินรวม 320,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 16.4% ต่อ GDP

มาที่ฝั่งเอเชีย เริ่มจากรัฐบาล และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ประกาศมาตรการเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสิ้น 3 ครั้ง  ขยับวงเงินช่วยเหลือรวมขึ้นมาอยู่ที่ 117.5 ล้านล้านเยน หรือ 21.7% ต่อ GDP ขณะที่จีนใช้เงิน 6.7 ล้านล้านหยวน หรือ 6.8% ของ GDP เยียวยาเศรษฐกิจ

  รัฐบาลไต้หวัน ประกาศนโยบายการคลัง ใช้เงิน 350,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อกักกันควบคุมโรคและกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือคิดเป็น 1.8% ต่อ GDP รวมทั้งใช้นโยบายการเงิน ในด้านสินเชื่อและการค้ำประกัน 700,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือ คิดเป็น 3.7% ต่อ GDP ทำให้แพกเกจของไต้หวันครั้งนี้อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือ 5.5% ต่อ GDP

รัฐบาลฮ่องกงประกาศมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบโควิด-19 ทั้งหมดขณะนี้จำนวน 287.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 10% ต่อ GDP ซึ่งมาตรการของรัฐบาลฮ่องกงในครั้งนี้ ได้ทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 63/64 ของฮ่องกงจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม -4.8% เป็น -9.5% ต่อ GDP

สำหรับมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของรัฐบาลเกาหลีใต้ รัฐบาลตั้งงบประมาณสนับสนุนการป้องกันโรค การนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิต และกิจการขนาดเล็ก มาตรการทางภาษี  สินเชื่อและการค้ำประกัน และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรวม 31.7 ล้านล้านวอน  ขณะที่มาตรการการเงินเพิ่มเติมอีก 100 ล้านล้านวอน เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดเงิน และช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและค้ำประกันสินเชื่อให้แก่กลุ่มธุรกิจ 

ลงมาที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน รัฐบาลมาเลเซีย ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่ารวม 260,200 ล้านริงกิต หรือ 17.2% ต่อ GDP โดยมาตรการส่วนหนึ่งเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) มีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สนับสนุนให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลอินโดนีเซียแก้ไขกฎหมายขยายเพดานการขาดดุลงบประมาณให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 5.1% ต่อ GDP ซึ่งจะทำให้

สามารถออกงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในวงเงิน  288.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 1.8% ต่อ GDP) ขณะที่ รัฐบาลสิงคโปร์ ก็ออกงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้ชื่อ “Solidarity

Budget” เช่นกันในวงเงินรวมทั้งหมด 59,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 11.8% ต่อ GDP 

รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศใช้มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ

โควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งหมดมูลค่าประมาณ 358,400 ล้านเปโซ หรือ  1.93% ต่อ GDP ขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) มีมาตรการการดูแลตลาดเงิน สินเชื่อ และตลาดตราสารหนี้ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านเปโซ

ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการและวงเงินเบื้องต้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่า รัฐบาลทุกประเทศยังต้องถมเงินเยียวยาเพิ่มขึ้นอีกมากกว่านี้อีกมาก หากเราปล่อยให้สงครามการต่อสู้กับโควิด-19 ยืดเยื้อยาวนาน