“กุลิศ”​ ย้ำสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลให้ราคาพลังงานโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นไปถึงปีหน้า

  • แนะคนไทยตระหนักประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ
  • เตรียมประกาศของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเร็วๆ นี้
  • เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนาหาทางออก ฝ่าวิกฤติ“พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า  ประเทศไทย ผลิตน้ำมันใช้เอง ได้เพียง 8% ที่เหลือ 92% ต้องพึ่งการนำเข้า ซึ่งจากวิกฤตราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีนาคม  2563 จนถึงเดือนกันยายน 2565 ทำให้รัฐ ต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือไปแล้วรวมกว่า 242,000 ล้านบาท และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ราคาน้ำมันดิบ น่าจะยังทะลุ 100 – 110 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งราคานี้ จะทำให้รัฐ ต้องอุดหนุน อาทิ ดีเซล อยู่ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร และปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังติดลบอยู่กว่า 120,000 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ในกระบวนการกู้เพื่อนำมาจ่ายคืนผู้ค้าน้ำมัน และเสริมสภาพคล่องกองทุน เบื้องต้นจะกู้เต็มวงเงิน มาใข้คืนให้แล้วเสร็จครบแต่ละงวด ภายในเดือนตุลาคม 2566 และอยู่ระหว่างการหามาตรการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งจะเน้นเข้าไปช่วยทั้งในด้านน้ำมันและไฟฟ้า คาดว่าจะประกาศชัดเจนเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ ราคาก๊าซธรรมชาติ LNG ในปีหน้าคาดว่า จะเฉลี่ยที่ 39 ดอลลาร์สหรัฐต่อ MMBtu (เอ็ม-เอ็ม-บี-ที-ยู) มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 38% ในจำนวนนี้ถึง 70% นำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ จึงมีการคาดการณ์กันว่า ราคา LNG จะขยับไปสูงถึง 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ MMBtu จึงต้องเตรียมแผนเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าไฟฟ้า สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ที่ค่า FT อยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท เพราะจากการคำณวน หากราคาสูงขึ้นไปถึงระดับดังกล่าวจริง จะมีผลให้ค่า FT ขยับขึ้นเป็นหน่วยละ 7 บาทได้ รวมทั้งยังต้องรองรับการใช้ไฟฟ้าของรถยนต์ อีวี ที่กำลังส่งเสริมเพื่อลดการใช้น้ำมัน โดยมีแผนทั้งการกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม 1 โรง ภายในปีนี้ เพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 200 เมกะวัตต์ และ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าให้นานที่สุด รวมทั้งในระยะยาว จะต้องสร้างการทีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้ขยายไปยังสถานประกอบการ ที่จะมีผลต่อการลดใช้ไฟฟ้าได้ชัดเจน รวมทั้งการพัฒนาโครงการพื้นฐานทางพลังงานทั้งการขาย และรับซื้อจากโรงงานและครัวเรือน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบบริหารจัดการ

นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ย้ำถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่กินเวลายาวนานมาแล้วกว่า 8 เดือน และยังมีแนวโน้มยืดเยื้อนั้น น่าเป็นห่วง เพราะรัสเซีย ถือเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก และส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก จึงกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก แต่พลังงานมีส่วนสำคัญและมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นควรใช้บทเรียนสำคัญ ของสหภาพยุโรป ที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียจำนวนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ได้ปรับแผนการแสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น ที่นอกจากจะลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งแล้วยังเป็นการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดด้วย.