กินเจปีนี้คาดเงินสะพัด 4.2 หมื่นล้านบาท

  • เพิ่มจากปี 64 เพราะราคาสินค้าแพง-คนกินลดลง
  • ลั่นต้องรอซื้อจากคนละครึ่ง-โปรลดราคาร้านสะดวกซื้อ
  • เหตุคนกินเจซมพิษค่าครองชีพพุ่ง-เศรษฐกิจซบเซา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ วันที่ 25 ก.ย.-4 ต.ค. 65 ว่า คาดว่า ช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ มูลค่าการใช้จ่ายจะอยู่ที่ 42,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงกินเจปี 64 ที่มีเงินสะพัด 40,147 ล้านบาทติดลบหนักถึง 14.5% สาเหตุที่มูลค่าเพิ่มขึ้นเพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ตอบ 62.2% คาดว่าราคาสินค้าที่เจปีนี้จะสูงขึ้นเมื่อเทียบปี 64 ทำให้ต้องลดปริมาณการซื้อลง

ขณะเดียวกัน จากราคาสินค้าเจที่สูงขึ้น ทำให้มีผู้กินเจลดลง โดยผู้ตอบมากถึง 66.0% ระบุไม่กินเจ เพิ่มขึ้นจาก 60.9% ในปี 64 เนื่องจากมองว่า อาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี และรายได้ลดลง ทำให้มีผู้กินเจอยู่ที่34.0% เพราะตั้งใจทำบุญ  ชอบอาหารเจ กินตามคนที่บ้าน หรือคนรอบข้าง มีคุณค่าทางอาหาร ส่งผลให้เทศกาลกินเจปีนี้มีความคึกคักลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัญหาค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด ราคาสินค้าเจแพง

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาซื้ออาหารเจ ผู้ตอบส่วนใหญ่ 56.9% ใช้เงินจากรายได้ประจำ, 39.7% ใช้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในปี 64, อีก 1.7% กู้ยืม, 1.5% เงินออม และ 0.2% รายได้พิเศษ ลดลงจาก3.4% ในปี 64 อีกทั้งคนส่วนใหญ่รอซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ ที่มีการจัดโปรโมชั่นลดลง และซื้อจากโรงการช่วยเหลือของรัฐ เช่น คนละครึ่ง

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามทัศนะต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งมากถึง 92.8% มองว่าไม่เหมาะสม มีเพียง 7.2% ที่มองว่าเหมาะสม และยังพบว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้กระทบต่อตนเองในระดับปานกลางถึงมากที่สุด คือ ค่ารถสาธารณะ, ค่าน้ำมัน, ค่าอาหาร, ค่าสาธารณูปโภค รวมถึงค่าเช่าบ้าน/ค่าผ่อนบ้าน โดยมีวิธีแก้ผลกระทบ คือ ลดการใช้จ่าย, หารายได้เพิ่ม, เอาเงินออมออกมาใช้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น, กู้เงินมาใช้ และนำสินทรัพย์ไปจำนำ/จำนอง

โดยผู้ตอบมากถึง 75.1% มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นในช่วงครึ่งหลังของปี 66 และต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาปัญหาค่าครองชีพ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ต้องการเงินช่วยเหลือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการลงทุน ช่วยหางานสำหรับผู้ที่ตกงาน และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นปกติ

“เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่ฟื้นแบบอ่อนๆ เป็นการฟื้นจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกหรือดิจิทัล ที่รับรู้การฟื้นตัวชัดเจนมาอย่างนานแล้ว ส่วนกลุ่มที่เพิ่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวคือ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มสินค้าคงทนถาวร ส่วนกลุ่มที่มองว่าตัวเองยังไม่ฟื้น คือ เกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี)”