การบินไทย ยื่นศาลฯขอแก้แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับวงเงินกู้เหลือ 2.5หมื่นล้านบาท

  • มีเงินสดถือในมือกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
  • เหตุสถานการณ์ฟื้นตัวเร็ว กลับมาทำการบิน
  • มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูได้ในปี 67

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า เมือวันที่1 ก.ค.  ทางคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูได้ไปยื่นคำร้องเพื่อขอปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากแผนจะปรับวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่จะมาฟื้นฟูกิจการใหม่จากเดิมต้องการ 50,000 ล้านบาทจะเหลือเพียง 25,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะเป็นสินเชื่อระยะยาว 12,500 ล้านบาท และ สินเชื่อระยะสั้น 12,500 ล้านบาท เพื่อมาเสริมสภาพคล่องในการลงทุน

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิม จัดทำขึ้นจากคาดการณ์ว่าบริษัทจะขาดกระแสเงินสด ดังนั้น เป้าหมายหลักของการฟื้นฟูนำเงินทุนใหม่เข้ามา 50,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และอีก 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อพบว่าการกู้เงินมีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน บริษัทจึงได้หาวิธีช่วยเหลือตัวเองก่อนด้วยการขายทรัพย์สินและเครื่องบินเก่าออกไปได้เงินกว่า 9,000 ล้านบาท

นอกจากนี้การเดินทางระหว่างประเทศทำได้มากขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้ยอดผู้โดยสารฟื้นตัวเร็ว โดยจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยที่เดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 64 ที่มีจำนวนไม่ถึง 1,000 คน/วัน มาเป็น 13,000 คน/วัน อัตราขนส่งผู้โดยสารขึ้นมาระดับ 80% ซึ่งหลายเส้นทางก็ขึ้นมาถึงระดับ 90% ส่งผลให้รายได้ในเดือน มิ.ย.65 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค.65 มาเป็น 8,000 ล้านบาท

ดังนั้น ปัญหาขาดกระแสเงินสดก็ลดลงจากรายได้ขายตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินสดในมือช่วงปลายเดือน มิ.ย.65 เพิ่มเป็น 14,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมี 5,000 ล้านบาท ดังนั้น การกู้เงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของแผนฟื้นฟูแล้ว เนื่องจากบริษัทมีระดับกระแสเงินสดในการดำเนินกิจการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

นายปิยสวัสดิ์  กล่าวต่อว่า สำหรับแผนโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุนใหม่ จะประกอบด้วย 1. จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาวไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้เตรียมหาสินเชื่อหมุนเวียน ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้ นอกจากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียน31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายทำให้ทุนเป็นบวกและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทาง ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริงเป็นจำนวนเงิน 12,500 ล้านบาท 

และ จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน  24.5% เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตรา 75.5% จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท  

นอกจากนั้น จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน  ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ 4,845 ล้านบาท รวมถึงจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด  ซึ่งคาดว่าระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีก 25,000 ล้านบาท

รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 67 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 67 และหลักทรัพย์ของบริษัทจะกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 68

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนการบินไทย กล่าวว่า จากปี 62 การบินไทยมีหนี้สะสมราว 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าภายหลังจากดำเนินการปรับแผนโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุนใหม่ตามแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จในปี 68 มั่นใจว่าหนี้สะสมของการบินไทยจะลดลงต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการปรับแผนฟื้นฟูใหม่คาดว่าขั้นตอนพิจารณาของศาลล้มละลายจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 65 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวดแผนได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.65