การบินไทยไม่ง้อ!เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านจากคลัง-คุยลั่น! แค่ 9 เดือนแรกปี 64 พลิกกลับมากำไร 5.1 หมื่นล้านบาท

“ปิยสวัสดิ์”เดินหน้าแผนกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านเติมสภาพคล่องการบินไทยไม่ง้อคลัง พร้อมเดินหน้าทวงหนี้หน่วยงานรัฐทั้งค่าซ่อมเครื่องบิน ค่ากองทุนบำเหน็จรวมกว่า 5.2 พันล้านบาท ชี้หากโควิดไม่ระบาดหนัก การบินกลับมาปกติสามารถเลี้ยงตัวเองได้ปี 65 มีรายได้ 5 หมื่นล้าน คาดปี 66-67 ลุ้นกำไร ล่าสุด 9 เดือนแรกปี 64 พลิกกลับมากำไร 5.1 หมื่นล้านบาท ตอกย้ำความเป็นสายการบินแห่งชาติและฟันเฟืองหลักพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ว่า ขณะนี้ เตรียมขอกู้เงินสถาบันการเงินจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจในปี 65 หลังจากที่กระทรวงการคลังมีความชัดเจนที่จะไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับการบินไทย แต่การบินไทยก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หากมีเงินกู้เอกชน  25,000ล้านบาทเข้ามา ประกอบกับ สถานการณ์โควิดขณะนี้เริ่มคลี่คลาย  คนเดินทาง การบินไทยเริ่มกลับมาทำการบินเพิ่มและขยายเส้นทางบินมากขึ้น

ทั้งนี้จากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่ผ่านมาการบินไทยขอให้ภาครัฐช่วยขอให้หน่วยงานภาครัฐ ที่ยังมีหนี้คงค้างกับการบินไทยทั้ง ค่าซ่อม กว่า 3,000 ล้านบาท หนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญอีกว่า 2,200 ล้านบาท และหนี้อื่นๆรวมแล้วกว่า 5,200 ล้านบาทมาใช้หนี้การบินไทย ซึ่งการบินไทยมั่นใจว่าจากปัจจัยต่างๆ จะทำให้การบินไทยเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างแน่นอน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลเปิดประเทศในเดือนต.ค.64 ที่ผ่านมาการบินมีรายได้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าว 90%มาจากการขนส่งสินค้า และอีก 10%เป็นการขนผู้โดยสาร ซึ่งส่วนนี้จะไม่รวมฝ่ายช่าง ภาคพื้น และครัวการบิน ขณะที่เดือน พ.ย.64 ตั้งแต่เปิดประเทศผู้โดยสารเพิ่ม10 วันแรกในเดือน พ.ย. มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 750 คน จากที่ก่อนหน้านี้มีเฉลี่ยวันละ 300 คนเท่่านั้น จะเห็นได้ว่ารายได้จากผู้โดยสารจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้รายได้หลักจะมาจากคาร์โก้ คาดว่าถ้าธุรกิจการบินดีขึ้นจะทำให้การบินไทยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ 

อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 65 การบินไทยจะมีรายได้ 50,000 ล้านบาท  และหากในปี 65 และปี 66 ถ้าสถานการณ์โควิดไม่ระบาดรุนแรงและธุรกิจการบินฟื้นจะทำให้รายได้ การบินไทยกลับมาที่ 140,000 -150,000 ล้านบาท  และอาจทำให้การบินไทยกลับมามีกำไร เนื่องจากได้เพิ่มเส้นทางบินในยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนในประเทศเอเซียยังไม่เปิดบินมากนักจึงยังไม่ได้ทำแผนตารางบิน ขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลงไปจำนวนมาก  

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า  ยังได้กล่าถึง กรณีหากกระทรวงคลัง ต้องการคงสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยไว้ก็จะต้องเติมเงินเข้ามา เพื่อให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุน สัดส่วนหุ้น48% จะยังคงอยู่ และหากรวมกองทุน และธนาคารออมสิน รัฐจะมีสัดส่วนถือหุ้นรวม 67% ในทางตรงกันข้ามหากคลังไม่ได้ใส่เงินเข้ามา จะไม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 48% จะลดลงเหลือ 8% เท่านั้น 

นายปิยสวัสดิ์ ยังได้กล่าวต่อถึงผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนเดือนแรกปี 64 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยยมีกำไรสุทธิ 51,115 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน 49,552 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงตามปริมาณการบิน บวกกับมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปธุรกิจ และมีรายได้ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากการปรับโครงสร้างหนี้  ขายทรัพย์สิน และเงินลงทุนเข้ามา 

นายปิยสวัสดิ์ ยังได้ กล่าวถึงความคืบหน้าในการขายเครื่องบินจำนวน 11 ลำ ว่า  เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยได้เสนอแผนการขายเครื่องบินไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาอนุมัติขายเครื่องบิน 11 ลำ  จากที่ก่อนหน้านี้จากที่ก่อนหน้านี้เคยเสนอขาย 1 ลำเป็นโบอิ้ง 737 และอยู่ระหว่างรอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เซ็นเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองในฐานะเป็นนายทะเบียนเครื่องบิน

ด้าน นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินกู้ 25,000 ล้านบาท จะทำให้บริษัทอยู่ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีระยะ 5 ปี แม้ว่าภาครัฐไม่ให้เงินกู้มาเพิ่ม แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเรากลับมาดำเนินธุรกิจได้ ในกรณีเลวร้ายสามารถเผชิญโควิดได้ระดับหนึ่ง และเราต้องได้หนี้ที่ภาครัฐคืนมาเติมสภาพคล่อง