การบินไทยเสนอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา 4 เรื่องใหญ่

  • จัดไทม์สล็อตเที่ยวบิน-ประสานต่างประเทศห้ามยึดเครื่อง
  • ช่วยเจรจาคู่ค้าบรรเทาค่าใช้จ่าย
  • การเปลี่ยนแปลงสิทธิหลังเป็นบริษัทมหาชน

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการติดตามการดำเนินการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเชิญผู้บริหารและที่ปรึกษาการเงินและกฎหมายเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการได้เชิญผู้บริหารและทีมที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อให้คณะกรรมการฯได้รับทราบสถานะคดีปัจจุบันของการบินไทย และมีแนวทางใดที่ต้องการให้คณะกรรมการฯ ให้ความช่วยเหลือด้านใดบ้าง

ทั้งนี้มี 4 เรื่องหลักที่ทางการบินไทยต้องการให้คณะกรรมการฯช่วยเหลือ คือ 1.การจัดไทม์สล็อต หรือ ช่วงเวลาเที่ยวบินใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบิน  โดยในคณะกรรมการฯ มีตัวแทนของคมนาคมอยู่ 2 คนอยู่แล้ว  ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะพิจารณาในส่วนของคมนาคมว่าทำได้หรือไม่เพียงใด 2.ปัญหาเครื่องบินที่มีสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อ ถ้าเกิดจะต้องบินในต่างประเทศ จะเสี่ยงต่อการถูกยึด ซึ่งเรื่องนี้ทีมกฎหมายจะต้องไปยื่นขอคุ้มครองต่อศาลประเทศนั้น  เพื่อให้ศาลรับรู้ว่าขณะนี้มีการยื่นคำร้องฟื้นฟูแล้วในศาลล้มละลายกลางที่ประเทศไทย

3.ขอให้ทางคณะกรรมการประสานคู่ค้าการบินไทย โดยเฉพาะคู่ค้ารัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ AOT  และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในระหว่างฟื้นฟู และ 4.สัญญาต่างๆ ที่การบินไทยทำไว้กับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ  เมื่อการบินไทยเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ต้องแก้ไขสัญญาใหม่ หรือบางสัญญาเป็นเรื่องรัฐวิสาหกิจทำกับรัฐวิสาหกิจเมื่อเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน จะเข้าเกณฑ์กฎหมายพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือไม่ ซึ่งหากมีกรณีดังกล่าวจะต้องแก้ไข เพื่อจะได้ไม่เป็นประเด็นโต้แย้งในศาล

“คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะไม่มีหน้าที่ไปก้าวล่วงการเจรจาใดๆ ของการบินไทย แต่ถ้ามีปัญหาอะไร ติดขัดข้อกฎหมาย จะเชิญมาสอบถามว่าติดขัดอะไร ส่วนกรณีที่สัญญาใดเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนฯนั้น จะให้ทีมกฎหมายการบินไทยไปดูว่า จะต้องดำเนินการใดในสัญญาได้บ้าง”

สำหรับสิทธิพิเศษที่การบินไทยได้รับจะหายไปนั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงคมนาคม อาทิ สิทธิการบิน ต้องไปดูรายละเอียดกฎหมายทำได้แค่ไหน หรือต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องหาช่องทางที่ทำให้การบินไทยฟื้นฟูสำเร็จ อะไรที่ผ่อนผันได้ตามกฎหมาย ก็ควรทำ

“บทบาทคณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะเป็นโซ่ข้อกลางไม่ใช่ฝาชีครอบการบินไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้ การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น จะมีหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล คือ กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม แต่เมื่อพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว จะไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่ นั่นคือปัญหาที่ตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย เพื่อหนุนการฟื้นฟูให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”