การท่าเรือออก 4 มาตรการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตท่าเรือแหลมฉบัง

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงการประชุมหารือแก้ไขปัญหาการจราจรภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เพื่อให้การบริการเกิดความคล่องตัวว่า  จากการหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการใน ทลฉ. และผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสอบถามความคิดเห็นและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกับทุกภาคส่วน ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาการจราจร 4 แนวทางประกอบด้วย1. ขอให้ผู้ประกอบการขนส่งลงทะเบียนการใช้งานระบบ Truck Queue คือ การใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยบริหารเวลารถบรรทุกสินค้าเข้าออก ทลฉ.  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การใช้งานของระบบ รวมทั้ง ทลฉ. ยังสามารถนำข้อมูลปัญหาที่เกิดจากการใช้งานมาปรับปรุง แก้ไข ระบบให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วต่อการใช้งานของผู้ประกอบการขนส่ง

2. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกภาคส่วนให้ร่วมใช้งานระบบ Truck Queue เต็มรูปแบบ (100%) คาดการณ์ว่าจะสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป และภายหลังจะมีการออกระเบียบข้อบังคับการใช้งานระบบ Truck Queue , 3. ทลฉ. ยินดีสนับสนุนพื้นที่สำหรับการปฏิบัติงาน เพื่อการให้บริการที่มีความสะดวกรวดเร็ว โดยจะมีการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ที่ประสงค์จะเช่าพื้นที่ของ ทลฉ. เพื่อเป็นการบรรเทาการจราจรหนาแน่นภายใน ทลฉ. และ 4. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการท่าเทียบเรือให้บริหารจัดการด้านการจราจร โดยขอให้การบริการเสร็จสิ้นภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นการสร้างความพึงพอใจต่อผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ ทลฉ. จะเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะถนนและหากพบจุดใดที่ชำรุดให้ดำเนินการซ่อมแซมโดยเร็ว   

สำหรับสาเหตุที่  ทลฉ. ต้องประชุมเพื่อหามาตรการแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี เกี่ยวกับปัญหาการจราจรหนาแน่นภายในท่าเทียบเรือ บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งที่มีการใช้เวลาในการขนส่งตู้สินค้ามากกว่าปกติจนส่งผลให้พนักงานขับรถเกิดความเหนื่อยล้าในขณะรอรับบริการ 

รวมทั้ง ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากการที่ต้องติดเครื่องยนต์เพื่อรอรับบริการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ B5, C3 ได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นที่มาของการเกิดจราจรที่หนาแน่นภายใน ทลฉ. เนื่องจาก 1. เรือบรรทุกตู้สินค้าเข้าเทียบท่าช้ากว่ากำหนด (เรือดีเลย์) 2. การ OVER BOOKING  3. ตู้สินค้าขาเข้า (Import)      มีการฝากเก็บไว้เป็นเวลานาน 4. พฤติกรรมการคืนตู้สินค้า (Export) อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน