การท่าเรือจ่อลงนาม”กิจการร่วมค้าGPC”ลุยสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ กับกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดนอกจากนี้ ยังผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้ว โดยหลังจากนี้ กทท. จะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC คาดว่า จะลงนามในช่วงปลาย พ.ย. 64 หรือต้นธ.ค.นี้ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามฯ

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)

อย่างไรก็ตามทาง กทท. จะออกหนังสือเริ่มงาน NTP (Notice to Proceed) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เริ่มงานเกี่ยวกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ลานวางตู้สินค้า ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด เช่น ปั้นจั่นหน้าท่า ฯลฯ ในช่วงประมาณปลายปี2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้ทันการรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F โดยเมื่อ ครม. รับทราบผลการคัดเลือก ถือว่าสิ้นสุดสำหรับการคัดเลือกแล้ว นับตั้งแต่การรับซองประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 62 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลายาวนานมาก หรือ 2 ปี 7 เดือน 12 วัน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลายาวมากในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของโครงการอื่นๆ ซึ่งยืนยันว่า เรายึดมั่นในคำขอข้อเสนอ (RFP) อย่างเคร่งครัด”

เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวนั้น กทท. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ โดย กทท. จะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งตลอดระยะเวลาสัมปทาน กทท. จะได้รับผลตอบแทน วงเงินรวมประมาณ87,400 กว่าล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับวงเงินที่รัฐบาลตั้งหวังไว้

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในระยะแรกเมื่อท่าเทียบเรือ F แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับได้ 4 ล้าน ที.อี.ยู. แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือ F1 จำนวน 2 ล้าน ที.อี.ยู. และท่าเทียบเรือ F2 จำนวน 2 ล้าน ที.อี.ยู. โดยหากพิจารณาแล้ว พบว่า ใกล้เต็มขีดความสามารถแล้วนั้น กทท. จึงจะดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ E ต่อไป ซึ่งคาดว่า ประมาณ 10 ปีข้างหน้า

เรือโทกมลศักดิ์  กล่าวต่อว่า  ขณะนี้ กทท. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต

นอกจากนั้นทาง กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 64 และหลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที พร้อมกันนี้ กทท. ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้าง โครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 64 กทท. มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง 9.8 ล้านที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 10.18% และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลง 0.46% มีกำไรสุทธิในภาพรวมของ กทท. ประมาณ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 63 ที่มีกำไรอยู่ที่ 5,630 ล้านบาท และปี 62 มีกำไร 5,600 ล้านบาท ส่วนรายได้เฉลี่ยในแต่ละปี จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นปีละ 3% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในปี 65 กทท. จะมีรายได้ประมาณ 15,900 ล้านบาท, ปี 66 มีรายได้ประมาณ 16,100 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 68 เมื่อเปิดใช้ท่าเทียบเรือ F แล้ว กทท. จะมีรายได้รวมประมาณกว่า 19,000 ล้านบาท