การค้าโลกเปลี่ยนสุดขั้ว

  • “ปานปรีย์”แนะปรับกลยุทธ์รับระบบเสรีสิ้นสุด
  • โลกการค้าที่ไม่เหมือนเดิม

  ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้ากระทรวงพาณิชย์ เขียนบทความของการเฝ้าดูผลกระทบจากสงครามการค้าไว้อย่างน่าสนใจในเฟสบุ๊กตนเองเรื่อง “ก้าวอย่างไรใน “โลกการค้า” ที่ไม่เหมือนเดิม” โดยระบุว่า
    ผลเจรจาที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน กำลังถูกชาวโลกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะทุกประเด็นมีความสำคัญ ถึงขนาดชี้ทิศทางเศรษฐกิจโลก และการค้าระหว่างประเทศทั้งปัจจุบัน และ อนาคต ความสับสน และ ความไม่แน่นอนในการค้าโลกขณะนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อนในนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก


    ในอดีต่อนที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกายึดแนวนโยบาย “ตลาดเสรี” มาโดยตลอด นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นผู้สนับสนุนการก่อกำเนิดความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(GATT) และต่อมาเป็นองค์การค้าโลก (WTO) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการแข่งขันการค้าอย่างเป็นธรรม โดยประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่างๆ ของ WTO ด้วย 
    แต่เมื่อ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 พร้อมกับนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติทันที แต่นโยบายนั้นกลับสวนทางกับที่ผู้นำสห รัฐอเมริกาคนอื่นๆทำมาเช่น กรณีการออกคำสั่งถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และขอเปิดเจรจาใหม่กับข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และที่มีผลกระทบกระเทือนเศรษฐกิจโลกมากก็คือ สหรัฐอเมริกาเปิดศึกการค้ากับจีน จนกลายเป็นสงครามการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 19 เดือนแล้วที่ยังหาข้อยุติไม่ได้


  .การค้าโลกจะไม่หวนกลับมาเหมือนเดิม
    นโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์มีความชัดเจนแบบไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาหันกลับไปใช้ระบบการปกป้องการค้า (Protectionism) ที่เคยต่อต้านมาตลอด โดยตั้งกำแพงภาษีกับประเทศคู่ค้า นอกจากนั้น ยังขู่ด้วยว่า อาจถอนตัวออกจาก WTO หากไม่เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติต่ออเมริกาให้ดีขึ้น ยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังลดความสำคัญต่อระบบการค้าพหุภาคีอีกด้วย
    “จากนี้ไปผมมองว่า การค้าโลก จะไม่หวนกลับมาเหมือนเดิม แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หรือได้รับเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีใหม่อีกรอบในสิ้นปี 2020 ก็ตาม เพราะทรัมป์ได้ทำให้สังคมคนอเมริกันมองการค้ากับจีนเป็นเรื่องของความมั่นคงประเทศ ไม่ใช่เร่ืองเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลให้นักการเมืองของสหรัฐอเมริกาไม่อาจกลับไปใช้นโยบายการค้าเดิมได้ และตราบใดที่ ทรัมป์ ไม่ได้กำหนดระเบียบการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ ความสับสน ก็ยังคงอยู่ต่อไป”
    ดังนั้น เรื่องที่ประเทศไทยต้องรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสิ่งที่ไม่ได้ก่อขึ้นเอง (Collateral damage) จึงต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์การค้าโลกแบบใหม่นี้ ซึ่งบางส่วนได้เกิดขึ้นกับจีนแล้ว อย่างเช่น ถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่อุปทาน การย้ายฐานการผลิตจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ด้วยเหตุผลของต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กำแพงภาษี ข้อจำกัดทางการค้า และที่สำคัญ คือ เพื่อย้ายไปอยู่ใกล้กับประเทศที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก อย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน


 .สงครามการค้าจะยังมีอยู่ต่อไป
    “ผมยังเชื่อว่า อำนาจในการกำหนดกฎกติกาทางการค้าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเช่นกัน แต่จะไปอยู่กับประเทศขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูง โดยบทบาทของ WTO จะถูกลดทอนอำนาจลง ซึ่งจะทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กเสียเปรียบ ไม่มีอำนาจต่อรองเหมือนเดิม ทำให้ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มการค้า อย่างเช่น RCEP หรือ CPTPP หรือข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีที่กำลังจะเกิดขึ้น”
    สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจนสร้างความไม่แน่นอนกับเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องการได้เปรียบ-เสียเปรียบดุลการค้าเท่านั้น แต่มีเรื่องอำนาจ (Power) ภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) เทคโนโลยี เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ไทยจึงต้องมีนโยบาย และ ยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุกที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
    อีกทั้งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะยากเย็นขึ้นอีกมาก ทีมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องมีประสิทธิภาพสูง และพร้อมเข้าสู่กระบวนการแข่งขันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น พร้อมเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าที่อาจตั้งกำแพงภาษีนำเข้า หรือข้อจำกัดในทางการค้ากับสินค้าไทยด้วย
    สงครามการค้าได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่มีสัญญาณว่าจะจบลงเมื่อใด ขณะที่เศรษฐกิจโลกล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศคู่สงครามการค้า แต่ความคาดหวังจากชาวโลกว่า สหรัฐอเมริกาและจีนจะสามารถเจรจาหาข้อยุติถาวรหรือชั่วคราวได้ และหันมาให้ความร่วมมือผลักดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็ยังคงมีอยู่ 
  แน่นอนว่า ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้การค้าโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกประเทศย่อมหนีไม่พ้น และต้องปรับตัว สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในจุดที่ดีกว่าหลายๆประเทศในโลก การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ถือว่าง่ายกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก หากเรามีนโยบายเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การค้าที่ทันสมัย และชัดเจน เพื่อรับ และรุกในกระแส “โลกการค้า” ที่ไม่เหมือนเดิม