กักตุนอาหาร และอุปทานหมู่

เมื่อไม่กี่วันก่อน ในวันที่ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยระบุ ให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ปิดสถานที่เสี่ยงที่คนจะไปรวมตัวกันจำนวนมาก ปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ปิดร้านอาหาร ร้านเสริมสวย สนามกีฬาฯลฯ

ถ้าหากยังจำกันได้ วันนั้นเราได้เห็นภาพผู้คนจำนวนมาก ออกไปเบียดเสียดกันแย่งกันซื้ออาหาร น้ำดื่มกันอย่างโกลาหลกันจนห้างแตก 

แย่งกันซื้อสินค้าที่ (เขา) ว่า จำเป็นต่อการดำรงชีพ ทั้งข้าวสาร ไข่ เครื่องกระป๋อง กระดาษชำระ น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หมูแผ่น หมูหยองฯลฯ ซื้อไปก่อน ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะได้กินวันไหน และหลายคนไม่ได้ชอบกิน

ขณะที่หลายๆ คน มีพฤติกรรมในลักษณะอุปทานหมู่ ที่ออกไปห้างแล้วใจไม่แข็งพอ พอเห็นคนแรกซื้อทิชชู 60 อยู่ในรถเข็น ยังรู้สึกเฉยๆ เห็นคนที่สอง ซื้อ 3 แพคใหญ่ 90 ม้วน เริ่มหวั่นไหว พอเห็นคนที่ 3 ซื้ออีก คราวนี้อดใจไม่ได้ คว้าใส่รถเข็นทีเดียว 100 ม้วน 

หรืออีกประเภทคือ “ของมันต้องมี” ส่องเฟสบุ๊ก อินสตราแกรมเพื่อน คนนี้ก็มี ไข่ คนนั้นก็กินไข่ คนนี้ก็ซื้อไข่ แล้วเราจะไม่มีกับเขาได้อย่างไร ต้องออกไปขนขวายหามาเป็นของตัวเองบ้าง ราคาแพงแค่ไหนก็ต้องมีเหมือนคนอื่นบ้าง และอีกประเภทคือ ซื้อของด้วยความตื่นตระหนก กลัวของหมด กลัวออกมาซื้อไม่ได้ กลัวขึ้นราคา เห็นอะไรก็โกยๆๆ ลงตะกร้าโดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง ไม่สนใจความเดือดร้อนของใคร ไม่สนใจคนอื่น

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์กลายเป็นการสร้าง “ดีมานด์” หรือความต้องการซื้อเทียมขึ้นมา และทำให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับขึ้น หลายคนหาซื้อสินค้าไม่ได้ และคุณๆ เองต้องซื้อของแพงโดยไม่จำเป็น

และเมื่ออยู่ดีๆ ความต้องการซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง สมมติว่า 500 ชิ้นต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ชิ้นต่อเดือน สินค้าที่เคยมีให้ซื้อไม่ขาด ก็กลายเป็นหาซื้อยาก หรือขาดตลาดขึ้นมาทันที ราคาที่เคยขายชิ้นละ 1 บาท ก็กลายเป็น 5 บาท 10 บาท หรือ 20 บาทต่อชิ้น

ของหมด ของแพง จากไม่จริง กลายเป็นจริง สร้าง “ความตื่นตระหนก” รอบสอง รอบสาม วนไปวนมาไม่รู้จบ !!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงวันนี้  “ไข่ไก่” กลายเป็นของหายาก และราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว ราคาข้าวสาร เริ่มปรับขึ้น ทั้งๆ ที่ปีนี้ เราส่งออกข้าวได้น้อยลง ทำให้มีเหลือขายในประเทศมากขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่างในห้่างสรรพสินค้าขายในราคาที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก  สินค้าเดิมๆ ที่เคยติดป้ายเหลือง ติดดาวลดราคาตลอดทั้งปี วันนี้แทบไม่มีให้เห็น

แต่หากจะบอกทุกคนว่า “อย่ากักตุนอาหาร” หลายคนอาจจะกล่าวหาว่า “ไร้วิสัยทัศน์” ประมาทไม่มองไกลๆ  หากรัฐบาลประกาศห้ามออกจากบ้าน 24 ชม.จะทำอย่างไร  เพราะแค่ในสถานการณ์ “ปิดเมือง” แบบขั้นที่ 1 นี้ การออกจากบ้านก็ยากลำบากแล้ว

เอาเป็นว่า วันนี้ลองอีกทางว่า แล้วเราจะ “กักตุนอาหาร” ให้เพียงพออย่างไร โดยไม่กลายเป็น “เหยื่อ” ทั้งเหยื่อของความตื่นตระหนก  เหยื่อของการปล่อยข่าวเพื่อสร้างราคา รวมทั้งเหยื่อของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหน้าเลือดที่ “กักตุนสินค้า”ช่วงหนึ่ง ทำให้สินค้าขาดตลาดแล้วค่อยปล่อยออกมาในราคาแพง

อย่างแรกที่ ต้องทำความเข้าใจคือ หากพิจารณา “สินค้าจำเป็น” ในการดำรงชีวิตของคนไทย พบว่าส่วนใหญ่มากกว่า 90% เราผลิตเองได้ และจำนวนมีมากกว่าความต้องการในยามปกติ ดังนั้น ในยามที่ไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้งไม่มีน้ำปลูกพืชจริง หากมีสินค้าตัวไหนจะขาด ส่วนใหญ่จะเกิดจาก “มีคนกักตุน” ทำให้ขาดมากกว่าที่จะขาดเพราะผลิตไม่ได้ ไม่ทัน

ดังนั้น หากเราอยากจะกักตุนอาหารไว้บ้าง เราก็เลือกสินค้าที่ซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องไปซื้อของที่แพงจนเกินกว่าเหตุ เช่น หากไข่แพงมาก เราก็ใช้เป็นโอกาสที่จะลองกินอาหารอย่างอื่น เช่น หากเคยกิน ไข่ดาว แฮม เบคอน เป็นอาหารเช้าทุกมื้อ ช่วงไข่แพง ลองเปลี่ยนเป็นข้าวต้มกุ้ง แบบภาคกลาง หรือ ติมซ่ำ แบบภาคใต้ก็น่าอร่อย 

นอกจาก ไม่ต้องซื้อไข่ช่วงราคาแพงๆ แล้ว หากคิดแบบนี้ได้หลายๆ คน  อาจจะช่วยดัดหลังคนที่กักตุนไข่ได้ด้วย เพราะไข่ มีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 21 วัน หากปล่อยขายไม่ได้ก็เน่าเสีย หากไม่มีคนแย่งซื้อ ของที่ตุนไว้ขายแพงๆ ก็ขายไม่ได้ในที่สุดต้องเอาออกมาขายในราคาที่ถูกลง

หรือหากต่อไปข้าวสารแพง เปลี่ยนเป็นเส้นบะหมี่ สปาเก็ตตี้ หรือขนมปัง ในบางวัน น้ำมันพืชแพง ก็ลองใช้น้ำมันหมูดูบ้าง ไม่ต้องไปแข่งขันกับใครว่า เราต้องมีทุกอย่างแบบคนอื่น เพราะถึงไม่มีก็ไม่ได้แย่อะไร และจริงๆ คงไม่มีใครอยากกินไข่ กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือปลากระป๋องซ้ำๆ ทุกวัน

ขณะที่อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งอาจเป็น “เหตุผล” ที่น่าสนใจกว่าของการกักตุน คือ ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ในอนาคต  กลัวของหมด… กลัวไม่ได้ออกมาซื้อ… กลัวประกาศเคอฟิวส์ …กลัวติดเชื้อไวรัส..ฯลฯ 

ซึ่งจุดนี้ รัฐบาลอาจจะต้องชี้แจงสถานการณ์ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่านี้ ว่าหากจะมีการประกาศจำกัดเวลาในการออกจากเคหะสถานจะออกมาในรูปแบบไหน และกระบวนการจะมีขั้นตอนอย่างไร เช่น ประกาศเมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ละวันในจำนวนเท่าไร หรือเครื่องชี้สถานการณ์คืออะไร

อย่างไรก็ตาม หากติดตามการ “ปิดเมือง” ของทุกประเทศที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็นโมเดลอู่ฮั่น โมเดลญี่ปุ่น หรือโมเดลในยุโรป ไม่มีเมืองไหนที่ปิดเมือง 100% จนไม่อนุญาตให้ประชาชนออกมาซื้ออาหาร  จึงไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหารเกินความจำเป็น 

เช่น อาจจะให้ออกทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ออกทุก 3 วัน หรือ 5 วัน ดังนั้น ถ้าไม่อยากออกจากบ้านบ่อย ก็แค่ซื้อให้เพียงพอ 3-5 วันที่กำหนด ไม่มีความจำเป็นต้องตุนไว้เป็นเดือน หรือ 2 เดือน เพราะการกินแต่อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ทุกมื้อไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราต้องการภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพื่อต่อต้านไวรัส 

ในต่างประเทศ โควิด -19 ได้สร้างพฤติกรรม “อุปทานหมู่” ไม่ว่าจะเป็นแห่ไปกักตุนสินค้าแบบไม่สนโลก หรือการทำพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงไม่แพ้ในเมืองไทย ทำให้มีคนสร้างคำใหม่ขึ้นมาเรียกคนกลุ่มนี้ ว่า Covidiot  ซึ่งมาจากการรวม 2 คำ คือ Covid และ idiot เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึง…

Someone who ignores the warnings regarding public health or safety. or A person who hoards goods, denying them from their neighbors.#coronavirus#covid-19

หรือ คนที่ทำพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่สนใจคำเตือนในสถานการณ์การแพร่ระบาด หรือ คนที่กักตุนสินค้าเกินกว่าเหตุ โดยไม่สนใจว่า คนอื่นจะมีสินค้าเหลือให้ซื้อหรือไม่ 

ลองเลือกดูว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะยาวนานไปอีกระยะ คุณจะอยู่กับมันไปแบบสมาร์ท (Smart) อยู่อย่างมีสติ และฉลาด หรือตื่นตระหนกกับทุกอย่างเกินกว่าเหตุ จนกลายเป็น “เหยื่อ” ที่ช่วยซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง