กักตุนผิด ชีวิตเปลี่ยนเสี่ยงไตพัง แถมโรคเรื้อรังถามหา !!

เซเว่นย้ำชัดสินค้าเพียงพอ
  • อาหารที่กักตุน ต้องไม่เสี่ยงความดัน-ไตทำงานหนัก 
  • ลองเปลี่ยนวิธีกักเก็บเป็นผัก-ผลไม้ ที่เก็บได้ทน
  • เก็บไว้ให้กินได้สัก 7-10 วัน แล้วไปซื้อใหม่

ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานชมรมโภชนวิทยามหิดล เปิดเผยว่า ทันทีที่ทุกคนได้ทราบข่าวประกาศ จะปิด ห้างร้านต่างๆ คนส่วนใหญ่ก็เฮโล กันไปกักตุนอาหารกันมากมาย item ยอดฮิตคงหนีไม่พ้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง ผักกาดดอง โจ๊กซอง และอาหารสำเร็จแช่เเข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารไฮโซเดียม เปี่ยมไปด้วยความเสี่ยง ต่อความดันโลหิตสูง แถมไตต้องมาทำงานหนักขับออก !!

ทั้งนี้ ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง อยู่ที่ 1,500  มิลลิกรัม (มก.) แถมพี่ใส่กับปลากระป๋องลงไปอีก 1 ป๋อง เสริมโซเดียม เข้าไปอีก 600 มก. สิริรวมมื้อนี้ พี่ฟาดโซเดียมไปถึง 2,100 มก. เกินโควต้า ที่วันหนึ่งแนะนำไม่ให้กินเกิน 2,000  มก. นี่แค่มื้อเดียวก็เกินลิมิตไปแล้ว

สำหรับอาหารที่กักตุน ต้องไม่เสี่ยงให้ความดันขึ้น ไตทำงานหนัก สกัดโรคเรื้อรัง จากการกินอาหารโซเดียมสูง พลังงานสูง และไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย ไปไหน…ไม่งั้นจะตัวบวม น้ำหนักขึ้นไขมันสูง ความดันเพิ่ม

ลองเปลี่ยนเป็นกักเก็บ ในหมวดคาร์โบไฮเดรต เป็นวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ข้าวกล้อง  ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หมวดโปรตีน เป็นเนื้อปลาสด (แล่เป็นชิ้นแช่แข็งไว้) ไข่ไก่ ถั่ว ธัญพืชต่างๆ เต้าหู้ถั่วเหลือง ถ้าเป็นทูน่ากระป๋อง ก็เลือกแบบเเช่ในน้ำแร่ หมวดไขมัน เลือกน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หมวดผักผลไม้ (นี่ห้ามขาด) เลือกผักผลไม้ที่เก็บได้ทน เช่น บล็อคโคลี่ กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก แครอท ไชเท้า คะน้า (อาจเอาผักมาทำความสะอาดและหั่นใส่ถุงเป็นแพ็คๆ เเช่เเข็งไว้พร้อมออกมาปรุงประกอบ สะดวกทุกมื้อ) ผลไม้ก็พวก แอปเปิ้ล กล้วย (ใส่ถุงปิดสนิท แช่ตู้เย็น) อโวกาโด ฯลฯ

เราควรเก็บไว้ให้กินได้สัก 7-10 วัน แล้วค่อยออกไปซื้อมาเก็บใหม่ มิต้องตุนแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป + ปลากระป๋อง กันมากมาย ได้แต่แป้ง พลังงานและโซเดียมสูง แถมไม่มีใยอาหาร

สุดท้าย…อาจจะรอดจากโควิด แต่หวุดหวิด เป็นโรคเรื้อรังครับ