“กอบศักดิ์” ชี้เฟดลดดอกเบี้ยเงินทุนไหลเข้าไทยเพิ่ม

  • แนะ ธปท.จับตาเงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิด
  • หวั่นเงินบาทอ่อนค่าเผชิญเศรษฐกิจโลกผันผวน
  • เผยรัฐบาลทำงานเป็นทีมพร้อมตั้ง ครม.เศรษฐกิจ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับลดดอก เบี้ยนโยบายลง 0.25% ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบหลายปี และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายดอกเบี้ยที่สำคัญอีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดเงินเฟ้อภายใน ประเทศแสดงให้เห็นว่า เฟดไม่ได้กังวลกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อมากนัก ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน

ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น เพราะการตัดสินใจเคลื่อนย้ายเงินลงของทุนนักลงทุนจะดูส่วนต่างของดอกเบี้ยเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน การปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯก็จะเป็นแรงกดดันต่อการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

“การปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ครั้งสำคัญ โดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะทำให้มุมมองของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็น safe haven (แหล่งพักเงินที่ปลอดภัย) ของนักลงทุน เพราะคาดว่า จะได้รับดอกเบี้ยคงไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า จะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนที่เป็น safe haven ซึ่งประ เทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในนั้น ที่น่าสนใจ”

ส่วนประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ จะยังไม่มีการประชุม โดยจะต้องหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการกำหนดระเบียบ และขั้นตอนต่างๆในการประชุมและการเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม.เศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถประชุมครั้งแรกได้ในสัปดาห์ถัดๆไป

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการท้าทายในสงครามการค้า มีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หากรัฐบาลซึ่งมีพรรคร่วมเป็นจำนวนมากไม่เตรียมการรับมือเป็นอย่างดี ปัญหาต่างๆ ก็จะกระทบต่อประชาชน เชื่อว่า ครม.เศรษฐกิจนี้จะเป็นทางออกของประเทศไทยในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งเป็นกลไกที่เหมาะสมต่อการบริหารราชการในปัจจุบันที่มีพรรคร่วมที่ดูและงานเศรษฐกิจมาจากหลายพรรค และไม่มีพรรคใดที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่การทำงานที่แบ่งกันไปดูแลแต่ละกระทรวงตามที่ได้รับมอบหมายตามพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน พรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนพรรคภูมิใจไทย ดูแลกระทรวงคมนาคม และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งถือว่าทุกพรรคช่วยกันดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจอยู่การมาทำงานร่วมกันถือว่าเป็นกลไกที่ดีและเมื่อมีนายกรัฐมนตรีมาช่วยเป็นประธานการประชุมให้จะทำให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆได้ง่ายขึ้น