กอนช. ชี้มวลน้ำจาก “อ่างเก็บน้ำหินตะโง่” ที่ชำรุด ไม่กระทบตัวเมืองโคราช

  • เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล
  • เร่งสำรวจอ่างเก็บน้ำอื่นในพื้นที่ฝนตกหนัก
  • ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กรณีอ่างเก็บน้ำหินตะโง่
เกิดการชำรุดและมีความเสียหายเนื่องจากมีมวลน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำและกัดเซาะคันดินด้านข้างขาด ทำให้มีปริมาณน้ำไหลออกจากอ่างเก็บน้ำประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการสำรวจพบว่ามีประชาชนริมลำน้ำได้รับผลกระทบประมาณ 40 ครัวเรือน ปัจจุบันปริมาณน้ำลดลงแล้ว ยังคงเหลือประมาณ 4-5 ครัวเรือนซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือประชาชน และหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมเหตุการณ์จะกลับสู่สภาพปกติภายในวันที่ 19 ต.ค.2563


ทั้งนี้ มวลน้ำที่ไหลจากอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ได้ไหลแผ่ออกไปในพื้นที่ราบก่อนแล้วไหลไปรวมกันที่คลองทราย และไหลลงลำพระเพลิง ที่ ตำบลบ่อปลาทอง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่ตำบลท่าลาดขาว อำเภอโชคชัย นครราชสีมา โดยปริมาณน้ำนี้ไม่มีผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ผ่านจังหวัดนครราชสีมาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลในปัจจุบัน กอนช. มอบหมายกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ และจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี-มูล ด้วยการหน่วงน้ำในแม่น้ำชี เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำมูล โดยปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ช่วยให้การระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะจากพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนลำพระเพลิงลงสู่แม่น้ำมูลได้เร็วยิ่งขึ้น

พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป นอกจากนี้ ยังได้กำชับหน่วยงานให้เร่งสำรวจอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ฝนตกหนักเสี่ยงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย