กอช.จับมือสสว. สร้างวินัยการออมแรงงานนอกระบบ-ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำร่อง 79,000 ราย

  • ลุยฝึกอาชีพ 3 จังหวัด “สงขลา-ขอนแก่น-ปทุมธานี”
  • หวังให้สมาชิกมีรายได้ สร้างเงินออมไว้ในยามเกษียณ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกอช. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือกันเพื่อสร้างหลักประกันบำนาญให้แก่ประชาชนแรงงานนอกระบบได้มีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ ซึ่ง กอช. จะให้ความรู้ในการวางแผนทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมการออมให้กับบุคลากร ผู้ประกอบการ ภายใต้การกำกับดูแล สสว. ที่ไม่มีสวัสดิการจากรัฐ ได้มีเงินออมสะสมไว้ใช้ในยามเกษียณหลังอายุ 60 ปี 

“คาดว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลให้สิ้นปี 2563 กอช. จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึงตามเป้าหมาย 2.5 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.4 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินฝากทั้งปีรวม 8,500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ส่วนผลการตอบแทนจากต้นปีจนถึงสิ้นเดือนก.ค.63 อยู่ที่ระดับ 1.3% และเร็วๆ นี้ จะร่วมมือกับธนาคารออมสิน จัดทำสมุดคู่เงินออม เพื่อจูงให้ประชาชนออมเงินเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมีสมาชิกถอนเงินออกไปราว 0.1% เนื่องจากไม่มีเงินไปใช้จ่ายช่วงโควิด-19 ”

สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี เริ่มออมเงินได้ตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทุกครั้งที่สมาชิกส่งเงินออมสะสม รัฐบาลจะเติมเงินสมทบให้ตามช่วงอายุ เช่น  อาทิ อายุ 15–30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี อายุ 30–50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี อายุ 50–60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี 

ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสสว. มีเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกอยู่กว่า 3 ล้านคน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว มีเอสเอ็มอีนอกระบบที่เข้าเกณฑ์ออมเงินกับกอช. ประมาณ 79,000 ราย โดยสามารถเริ่มเข้ามาออมเงินกับกอช. ได้เลย ซึ่งกอช. จะเข้าไปให้ความรู้ผู้ประกอบการ ให้มีความเข้าใจการบริหารเงินทางธุรกิจ ทำให้มีการวางแผน และบริหารจัดการเงินของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการใช้จ่าย การออมเงิน และการจัดการหนี้สิน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินที่สำคัญ 

อย่างไรก็ตามภายใต้ความร่วมมือนี้ สสว.มีเป้าหมายจะดึงผู้ประกอบการรายย่อย 3 กลุ่มหลักให้เข้ามาเป็นสามชิกกอช. คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว. กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก สสว. แล้ว แต่ยังไม่ได้ออมเงินกับ กอช. และกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกทั้ง สสว. และ กอช.

“สสว. และ กอช. จะดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพให้แก่สมาชิกร่วมกัน โดยเน้นการฝึกอาชีพที่มีความต้องการของตลาดหรือพื้นที่นั้น ๆ โดยจะคัดเลือกพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสงขลา ขอนแก่น และปทุมธานี เพื่อเป็นการต่อยอดให้สมาชิกสามารถมีธุรกิจการให้บริการได้ในพื้นที่นั้นๆ”