กสิกรไทย ชี้”เฟด”มีโอกาสหยุดขึ้นดอกเบี้ย หวั่นซ้ำรอยอดีตขึ้นดอกเบี้ยจนเศรษฐกิจถดถอย

  • ชี้สหรัฐกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงในรอบ 40 ปี
  • ใช้นโยบายตึงตัวมากเกินไปในสภาวะที่มีหนี้สูง
  • ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ง่าย

วันที่ 18 มิถุนายน 2565 กลุ่มงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า สหรัฐกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด อยู่ช่วงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้การกู้ยืมแพงขึ้น และเศรษฐกิจที่หดตัวในไตรมาสแรก ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐปรับลดลงในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เงินเฟ้อสหรัฐชะลอลงและความกังวลต่อภาวะถดถอยเริ่มมากขึ้น นักลงทุนจึงมองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐเริ่มกลับมาปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลังจากตลาดเริ่มกลัวเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงยาวนานและรายงานตลาดแรงงานของสหรัฐ ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยจนกระทบต่อเศรษฐกิจ

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้ผู้บริโภคลดการกู้ยืม โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่มีต้องกู้ยืมเงินเยอะ อย่างเช่น การกู้ซื้อบ้าน ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับบ้าน 30 ปี ปรับสูงขึ้นเกิน 5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ทำให้ยอดการขายบ้านปรับลดลง

ส่วนต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้บริษัทที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การลงทุนของธุรกิจลดลงตามไปด้วย และเมื่อธุรกิจเริ่มลดกิจกรรม การจ้างงานก็จะเริ่มลดลง รวมถึงค่าจ้างที่จะปรับลดเช่นกัน จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลง

ราคาสินค้าที่แพงจะทำให้ผู้บริโภคต้องลดการใช้จ่าย และเมื่อการลดการจ้างงาน ผู้บริโภคจะมีแนวโน้มใช้จ่ายน้อยลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอลงมากขึ้น และเป็นวงจรขาลงต่อเนื่อง โอกาสที่เฟดจะพาเศรษฐกิจไปสู่ soft landing อาจเกิดขึ้นได้

แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ค่อนข้างมองว่าเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง 11 ครั้งใน 14 ครั้งที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อให้เกิดภาวะถดถอย ซึ่งหมายความว่าโชคไม่เข้าข้างเฟดสักเท่าไหร่

ในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่ได้บอกไว้ หรือก่อนที่ตลาดคาด

การใช้นโยบายตึงตัวมากเกินไปในสภาวะที่มีหนี้สูงอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ง่าย และเฟดจะไม่เหลือทางเลือก นอกจากหยุดการขึ้นดอกเบี้ยและกลับมาใช้นโยบายผ่อนคลายช่วยเหลือเศรษฐกิจอีกครั้ง