“กสิกรไทย” ประเมินกรอบค่าเงินบาท 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ด้านหุ้นไทยคาดแนวรับที่ 1,200 และ 1,185 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,250 และ 1,265 จุด

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ มีแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลงท่ามกลางความหวังว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายๆ ประเทศจะเริ่มชะลอลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเตรียมแผนที่จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในวันศุกร์ (17 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.54 เทียบกับระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 เม.ย.)

ด้านหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,239.24 จุด เพิ่มขึ้น 0.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62,786.08 ล้านบาท ลดลง 23.72% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.66% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 240.38 จุด  

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีสัญญาณชะลอตัวในหลายประเทศซึ่งรวมถึงไทยด้วย ก่อนจะร่วงลงในช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ประเมินว่าจีดีพีโลกปีนี้จะหดตัวลง 3.0% (ส่วนจีดีพีไทยจะหดตัวถึง 6.7%) ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขานรับข่าวการเตรียมเปิดเศรษฐกิจในหลายประเทศ

สัปดาห์ถัดไป (20-24 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,200 จุด และ 1,185 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,250 จุด และ 1,265 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกของไทยเดือนมี.ค. และการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของบริษัทจดทะเบียนไทย สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ 

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น