กสิกรไทย คาดกนง. ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3 สกัดเงินเฟ้อ-ชะลอบาทอ่อน

  • ทุนสำรองลดลงสะท้อนการเข้าดูแลเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเกินไป
  • ชี้กังวล “เศรษฐกิจถดถอย-Stagilation”
  • ธปท.ต้องระมัดระวังการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4-3 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้กสิกรไทย จึงได้ปรับคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายใหม่ โดยคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาส 3 ปี 2565 นี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายหลังการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และความกังวลต่อโควิด-19 ชะลอลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น

ประกอบกับแรงหนุนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากกว่า 1 ล้านคนแล้วในปีนี้ ส่งเสริมภาพรวมการบริโภคเอกชนให้ดีขึ้น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 14 ปี ที่ 7.1% และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 นี้ จากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง และ จากค่าการกลั่นสิงคโปร์ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันไทยและต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการในวงกว้าง

มีแนวโน้มเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอความกังวลด้านเงินเฟ้อ และเพื่อลดแรงกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและสหรัฐ ส่งเสริมค่าเงินบาท และชะลอเงินเฟ้อนำเข้า จากค่าเงินบาทไทยที่อยู่ในฝั่งอ่อนค่า จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กดดันค่าเงินสกุลเอเชียเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

โดยที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการลดเงินทุนสำรองต่างประเทศ เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท เพื่อไม่ให้เกิดภาระเงินเฟ้อสองต่อ ทั้งจากการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาแพงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยลดภาระของ ธปท. ในการดูแลค่าเงินบาทผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

“เราประเมินว่าความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ Stagilation ที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทยในระยะถัดไป และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ ธปท. ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังก่อนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด

นอกจากนี้ มติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของ กนง. มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ณ ขณะนั้น อ้างอิงจากความกดดันจากการปิดเมืองในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นแรงกดดันให้กิดมติไม่เอกฉันท์ 6 -1 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น จะทำให้ กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยอีกครั้ง ในการประชุมครั้งถัดไป”