กสิกรไทยส่องจีดีพีไทยเลวร้ายสุดโต2.9%“สงคราม การค้ายืดเยื้อ-ยิ่งงบกระตุ้นเศรษฐกิจพลาดเป้า”

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ3.1%
  • สงครามการค้ากดส่งออกทั้งปีไม่โต0%
  • มั่นใจค่าเงินบาทแข็งโป้กไม่หลุด30.50บาทต่อดอลาร์สหรัฐ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.1 % จากเดิมที่ 3.7 % เนื่องจากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งทำให้การค้าโลกชะลอตัว จึงได้ปรับลดประมาณการส่งออกปีนี้ลงมาที่ 0 % จากเดิม 3.2 % ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศความล่าช้าของงบประมาณปี 63 ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐหายไป 80,000 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังรัฐบาลใหม่ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนวงเงิน 80,000 ล้านบาท ก็จะชดเชยผลกระทบจากงบประมาณล่าช้าได้

“กรอบประมาณการจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 2.9-3.3 % ซึ่งหากสงครามการค้ายื้ดเยื้อ สหรัฐฯจัดเก็บภาษีิสินค้าจากจีนรอบที่ 3 อีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลกระทบต่อส่งออกของไทย 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 0.6 % ของจีดีพี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จีดีพีของไทยจะอยู่ในกรอบล่างที่ 2.9 %”

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย แรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น การประชุม กนง.น่าจะยังคงนโยบายไว้ที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพ คู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่ คาดว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้น ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มั่นใจว่าจะไม่หลุด 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ้นปียังคงเป็นไปตามประมาณการเดิมที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในช่วงนี้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเพิ่มขึ้นจากต้นปี 5.6 % และแต่การเคลื่อนไหวยังเป็นไปตามภูมิภาค โดยในระยะสั้นมั่นใจ

สำหรับสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น ตลอดทั้งปีนี้จะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ เอ็นพีแอลนั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว (Re-Entry) แต่ปิดปี ก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง