กลุ่ม จีพีเอสซี -ม.สุรนารี ลุยโครงการพลังงานอัจฉริยะ

  • ผุดโซลาร์เซลล์ 6 เมกะวัตต์
  • เป็นศูนย์การเรียนรู้ใช้งบลงทุน 150 ล้านบาท
  • ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 510 ล้านบาท

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า จีพีเอสซี ได้ ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ วิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม จีพีเอสซี ที่จีพีเอสซี ถือหุ้น 100% เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต6 เมกะวัตต์ เพื่อให้ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับมหาวิทยาลัยฯ ผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเอกชนกับเอกชน (Private PPA) อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้แก่บุคลากร นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ โดยใช้งบ150 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565

“โครงการดังกล่าว แบ่งการติดตั้งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1การติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของอาคารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวม 1.68 เมกะวัตต์ โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบชนิด Mono PERC Half-Cell Module 2 การติดตั้ง Solar Rooftop บริเวณหลังคาทางเดิน อาคารบริหาร ขนาด60 กิโลวัตต์ ด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบชนิด Bifacial cells แทนการใช้หลังคาทั่วไป และ 3การติดตั้งโซลาร์ชนิดลอยน้ำ (Solar Floating) ในอ่างเก็บน้ำสุระ 1 ขนาดกำลังผลิตรวม4.312 เมกะวัตต์ ซึ่งจุดเด่นของระบบนี้อยู่ที่ทุ่นลอยน้ำซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ที่ใช้วัตถุดิบ (Raw Material) เป็นเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษที่ผสมของสารกันแสง ยูวี จาก ที่มีคุณสมบัติคงทนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้หลังจากสิ้นสุดอายุการใช้งาน

นายวีรพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีค่าไฟฟ้า100 ล้านบาทต่อปี ด้วยวิธีการที่สามารถใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยฯ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 4.3 เมกะวัตต์ บนอ่างเก็บน้ำสุระ และแผงโซลาร์เซลล์ 1.7 เมกะวัตต์ บนหลังคา ทำให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบพลังงานทดแทนได้ 8.5 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 510 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 115,000 ตัน