กระทรวงเกษตรฯเร่งช่วยเกษตรกรระบายผลไม้ เหตุไวรัสโควิด-19 ทำพิษ

  • รมช.เกษตรฯ สั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งหาตลาด
  • ขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้
  • เตรียมเสนอ ครม.พิจารณางบอุดหนุน 414.20 ล้านบาท บริหารจัดการผลผลิต

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค -19 ที่ระบาดหนักในประเทศจีนและทั่วโลกในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562 ) จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 โดยมีการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน 570,833 ตัน รองลงมา คือ ฮ่องกง 114,260 ตัน และเวียดนาม 639,545 ตัน รวมทั้ง 3 ประเทศ 1,324,637 ตัน โดยปี 2562 มีการส่งออกทุเรียน มังคุด และลำไย ไปประเทศจีน 12,251.16 ตัน มูลค่า 572.45 ล้านบาท ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังไม่มีออร์เดอร์จากจีนเลย

ทั้งนี้ช่วงปี 2563 คาดว่าไทยจะมีปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาดทั้งทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ รวม 3,072,591 ตัน โดยผลไม้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 84% ของจำนวนผลไม้ทั้งประเทศ ทั้งนี้หากไม่มีมาตรการรองรับอาจจะส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำและเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร เพื่อรองรับผลกระทบของโรคไวรัสโควิค -19 เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยจะใช้เครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ 90 แห่ง ใน 31 จังหวัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิก 95,321 ราย ช่วยระบายผลไม้สู่ตลาดในราคาที่เป็นธรรม ตั้งเป้า 6 เดือน เม.ย.-ก.ย. จะกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ได้ 80,000 ตัน แบ่งเป็นทุเรียน 40,000 ตัน มังคุด 20,000 ตัน และลำไย 20,000 ตัน

นอกจากนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณางบประมาณ เพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ วงเงิน 414.20 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบหลักการรายละเอียดก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยวงเงินจำนวนนี้จะให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัด และระดับอำเภอ 824 อำเภอ และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% ให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลไม้จากเกษตรกรในฤดูกาล ปี 2563  

อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ไม่ให้ตกต่ำ คิดเป็นมูลค่า 1,760 ล้านบาท และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 7,644.071 ล้านบาท หรือ 18.45 เท่าของการลงทุนจากภาครัฐ และวันที่ 8 – 9 มี.ค. จะมีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้จังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งได้เชิญตัวแทนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมผลไม้ รับฟังการชี้แจงถึงมาตรการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด และจะมีการประชุมสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันกระจายผลไม้ ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตต้นทางกับสหกรณ์ผู้บริโภคกว่า 150 แห่ง พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ กับคู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด บริษัทเอกชน และผู้ส่งออก