กระทรวงเกษตรฯตื่น!เร่งตั้งศูนย์รับมือภัยแล้งทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานปล่อยคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งปี63/64 ว่า การบริหารจัดการน้ำภัยแล้งนี้ ได้สั่งการทุกสำนักงานชลประทานทุกพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งจนถึงฤดูฝนหน้า ทั้งได้ให้เตรียมเครื่องจักร กำลังคน เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชน เกษตรกรทั่วประเทศ และจ้างเกษตรกร แรงงานที่ตนงานจากวิกฤติโควิด-19 จำนวน 94,000 คน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 5,662ล้านบาท รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ค่าความเค็มจากน้ำทะเลหนุนสูงกระทบระบบผลิตประปานครหลวง ซึ่งได้วางแผนรับมือน้ำทะเลหนุนสูงสุดในปีนี้อีก6ครั้ง โดยเริ่มกลางเดือนนี้จะหนุนสูงสุด ไปจนถึงเดือน เม.ย. ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระรามหหก ผันน้ำแม่กลอง มาเจือจางไล่ความเค็มไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน 0.25 กรัมต่อลิตร

“เตรียมมาตรการล่วงหน้าเรื่องของความเค็ม ขอให้ประชาชนสบายใจ วางแผนแก้ไขล่วงหน้า แม้ภาวะน้ำต้นทุนในเขื่อนมีน้อย จะต้องบริหารจัดการน้ำอุปโภค บริโภค มีเพียงพอไม่ให้กระทบพี่น้องประชาชน ประสานงานทุกภาคส่วน ขอให้เกษตรกรฟังข่าวสารจากราชการ ในเรื่องปลูกข้าวนาปรังลุ่มเจ้าพระยาปลูกเกินแผน 2.6 ล้านไร่ ขอความร่วมมือประชาขน เกษตรกร เราไม่อยากให้ปลูกเพราะน้ำมีจำกัด แต่เมื่อปลูกแล้วต้องแก้ไขให้ไปด้วยกัน สำหรับปริมาณน้ำใช้การได้ วางแผนสำรองไว้ถึงเดือน มิ.ย. ถ้าฝนยังล่าช้า มีแผนสำรองน้ำไปอีก 60 วัน ถึงเดือนส.ค.ที่เข้าสู่หน้าฝนเต็มตัวตามธรรมชาติจะตกมากหรือตกน้อยอย่างไรก็ต้องตก” นายเฉลิมชัย กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่าให้กรมชลประทาน ตรวจสอบด้วย กรณีส.ส.ในพื้นที่มาร้องเรียนในเรื่องน้ำที่ในภาคอุตสาหกรรม มีบางส่วนนำน้ำไปใช้ไม่แจ้ง กรมชลประทาน เช่น ที่จ.ฉะเชิงเทรา มีบริษัทใหญ่ด้านน้ำ ไปติดตั้งท่อขนาดยักษ์สูบน้ำ 3-4 ท่อ ทำให้น้ำส่งไปผลักดัน ถูกดูดขึ้นไป ทำให้น้ำเค็มดันขึ้นมาลุ่มแม่น้ำบางปะกง -แม่น้ำปราจีนบุรี ตนขอย้ำน้ำใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรม ความเป็นนอยู่ของประชาชน ต้องบริหารจัดการให้อยู่กันได้ ในภาวะวิกฤติ น้ำสำคัญที่สุดยืนยันจะทำให้ผ่านพ้นไปให้ได้

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าลุ่มเจ้าพระยา ใช้น้ำเกินแผนดังนั้นขอให้สถานีสูบน้ำกว่า300แห่ง ตลอด 4 ลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ชะลอการสูบน้ำช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเพื่อป้องกันค่าความเค็มกระทบระบบประปา ในปีนี้พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว 33จังหวัด อยู่ในเขตชลประทาน28จังหวัด นอกเขต5จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังด้านการเกษตร 40 จังหวัด 3.241 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ไม่มีแผนเพาะปลูก แต่ปลูกข้าวไปแล้ว 2.6 ล้านไร่ ทั้งนี้สำรองน้ำไว้ถึงต้นฤดูฝน 8,376 ล้านลบ.ม.ทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งศูนย์เฉพาะกิจและบรรเทาวิกฤติภัยแล้งทุกพื้นที่

สำหรับค่าความเค็มเกิดตั้งแต่ 1 ก.พ. ถึง 30 เม.ย. จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุด 6 ครั้ง สำหรับมาตรการผลักดันน้ำเค็ม ได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก เปิดปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ กระชากน้ำเค็มลงไปได้ ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำตลอดแนวลำน้ำไม่สูบน้ำ เตรียมการผันน้ำจากแม่กลองมาช่วย 500 ล้าน ลบ.ม. ในภาวะจำเป็น ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือแจ้งเตือนหน่วยงานอื่นในพื้นที่ 4,000 กว่าครั้ง