กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร

  • 3 ปัจจัยรุมเร้าเศรษฐกิจไทย
  • เศรษฐกิจขาลง-สงครามการค้า
  • การระบาดของศัตรูที่มองไม่เห็น

เนื่องจากเศรษฐกิจของเราขณะนี้ซบเซามาก สาหตุหลักเกิดจากการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวแทนที่จะขยายตัว จากปัจจัยภายนอกต่างๆ หลายอย่าง จากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน จากการเกิดโรคระบาดที่ประเทศจีนแล้วแพร่ไปยังยุโรป แล้วข้ามไปอเมริกา ออสเตรเลีย ความหวาดวิตกว่า จะเกิดภาวะเศรษฐ กิจตกต่ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1929-1930 ที่ได้กระจายไปทั่วโลกรุนแรงมากขึ้น

ขณะนี้หลายประเทศก็ทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างน้อย 10-15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ไม่ใช่ 3 เปอร์เซ็นต์อย่างที่พูดกันในเมืองไทย และเนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศของเราอยู่ในระดับสูงกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หนี้ต่างประเทศไม่มี เราเป็นเจ้าหนี้สุทธิกับต่างประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศก็เป็นทุนสำรองที่เราสะสมจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มิใช่กู้ไอเอมเอฟมาเป็นทุนสำรอง ฐานะการคลังมั่นคง หนี้สาธารณะมีอยู่เพียงร้อยละ 42 ของรายได้ประชาชาติ 

แต่ประชาชนเดือดร้อน รายได้ลดลง ถูกปลดจากงาน ไม่มีงานทำ ต้องถอนเงินประกันสังคม หรือต้องกลับบ้าน เพราะอยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑลไม่ได้ โรง งานผลิตเพียง 50-55 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิต การลงทุนภาคเอกชนไม่มี ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องลงทุน แต่จะลงทุนอะไรและลงทุนอย่างไรที่จะทำได้เร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชดเชยกับการหายไปของรายได้ของครัวเรือน

  • รัฐบาลควรทำอะไรบ้างในยามนี้
  • กระตุ้นเศรษฐกิจแบบครบวงจร

การกระตุ้นเศรษฐกิจของครัวเรือนควรทำอะไรได้บ้างเท่าที่นึกได้ก็คือ
1.ขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างน้อย 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับสูง
2.ดำเนินนโยบายลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่านทาง ค่ารถไฟ รถเมล์ แล้วตั้งงบประมาณชดเชยให้กับครัวเรือนและอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟใช้เองก็ควรได้รับการชดเชยด้วย
3.ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก ให้เข้าใกล้ 0.25 – 0.5 เปอร์เซ็นต์ ลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีก และแทรกแซงตลาดเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อย่างน้อยค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 35-40 บาทต่อดอลลาร์
4.เร่งจัดขบวนการการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น ปรับปรุง พ.ร.บ.การร่วมทุนของรัฐกับเอกชนให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ลดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมลงในส่วนที่ไม่จำเป็น ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ในเรื่องเป้าหมายการลงทุน ความต้องการให้เม็ดเงินได้กระจายเข้าไปสู่ระบบโดยเร็ว เพื่อให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยกับรายได้จากการส่งออกลดลง แม้ว่าการลงทุนของภาครัฐบาลจะมีขนาดเพียงร้อยละ 16-17 ของรายได้ประชาชาติก็ตาม

  • ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง
  • ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง

5.เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่โครงการทางรถไฟรางคู่ สนามบินแห่งที่ 2 ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ อุดร ขอนแก่น แม้ว่าการจราจรจะยังไม่คับคั่งก็ควรลงทุนเพื่อสร้างอุปสงค์ในการใช้

6.อนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนได้เป็น 3-4 เท่าของเงินลงทุนของเอกชน ซึ่งบัดนี้ก็ได้อนุญาตให้หักได้มากกว่า 1 เท่าของเงินลงทุนอยู่แล้ว

7.ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกระดับลงมาอีก ภาษีเงินได้ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการลดช่องว่างของรายได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล รายได้สำหรับคนชั้นสูงส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยและเงินปันผล ไม่ใช่เงินเดือนและค่าจ้าง ควรนำไปใช้ลดช่องว่างในเรื่องคุณภาพชีวิตระหว่างคนรวยกับคนจนมากกว่า

8.การลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคด้านต่างๆ อาจจะติดขัดที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในยามนี้ก็ควรลดขั้นตอนของการพิจารณาให้สั้นและเร็วขึ้น เพราะเป็นยามที่รัฐบาลต้องทำโดยวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ต้องขจัดความไม่รู้ขององค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอที่สร้างกระแสความตระหนกในสังคม เพื่อไม่ให้ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาส 

  • อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตลาด
  • ค่าเงินบาทควรอ่อนตัวลง 35 บาท/ดอลล่าร์

9.เพิ่มรายจ่ายและลดรายได้ของรัฐบาลลงทั้ง 2 ด้าน ให้มีเม็ดเงินในตลาดให้ได้ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้ประชาชาติต่อปี ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี อาจจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 70 ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบของวินัยการคลัง แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณขึ้นอีกในยามนี้ก็ยังต้องทำและตั้งเป้าหมายว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับไม่เกินรายได้ประชาชาติ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแรง 

10.ค่าเงินบาทยังแข็งเกินไป เงินบาทต้องอ่อนตัวลงไป จาก 33 บาทต่อดอลลาร์ให้กลายเป็น 35 บาทดอลลาร์ในปี 2563 และเป็น 40 บาทในปี 2564 ก็จะทำให้ความซบเซาทางเศรษฐกิจในบ้านเราลดลงไปได้บ้าง ทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลงไปบ้างก็ไม่น่าจะมีปัญหา 

11.หลายประเทศได้ทำการจัดงบประมาณแผ่นดินใหม่โดยการลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลง แล้วโอนไปใช้ในการป้องกันและเยียวยาผลกระทบจากโรคระบาดในคราวนี้

  • มาตรการอัดฉีดเงิน 1.6 ล้านล้านบาท
  • สกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้สกัดกั้นการระบาดของของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ครั้งนี้ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าสงครามโลก บางคนถือว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ไปแล้วตามคำทำนายของ นอสตรา ดามุส เมื่อปี 1551 สง ครามเกิดขึ้นจากประเทศที่ไม่นับถือพระเจ้า แล้วสงครามก็แพร่ไปสู่ยุโรป และโลกใหม่ ซึ่งคนตีความว่าคือ สหรัฐ อเมริกา จะมีคนตายมากมาย ซึ่งทำท่าจะเป็นจริงตามคำทำนาย ที่ธนาคารโลกทำนายว่าเศรษฐกิจของโลกจะหดตัวประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่น่าจะเป็นจริงเสียแล้ว 

ความเสียหายเกิดขึ้นมากมายจนต้องปิดประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกาและเอเชีย สร้างความเสียหายกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทุกประเทศต้องลดการผลิตลงอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิต การลงทุนใหม่ไม่มีและยังไม่มีใครกล้าคาดเดาว่าโรคระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แม้ว่าเมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยจะเปิดให้สามารถทำกิจการได้ตามปกติแล้วก็ตาม

ด้วยความประมาทของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มั่วแต่เล่นสงครามน้ำลายกับจีน เพื่อเบนความสนใจของคนอเมริกาออกจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของตน สร้างศัตรูกับต่างประเทศซึ่งไม่มีประเทศใดเหมาะสมไปกว่าประเทศจีน  อเมริกายอมเสียเกียรติภูมิปล่อยให้ผู้นำของตนทำตัวเป็นอันธพาลของโลก แสดงกิริยามารยาทเป็นผู้ร้าย 

  • ขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะร้อยละ 70
  • ทำให้การใช้จ่ายถึงมือครัวเรือนมากที่สุด

ขณะเดียวกันผู้นำจีนวางตัวเป็นผู้ใหญ่ พูดจามีมารยาทแบบประเทศใหญ่ และมีอารยธรรม ส่งข้าวของเครื่องใช้เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ประสบปัญหาโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี โปรตุเกส ลัทเวีย ลิทัวเนีย เป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด

ประเทศเราก็น่าจะสละข้าวของเครื่องใช้เวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย หากประเทศเหล่านั้นมีความจำเป็นร้องขอมา เพราะในบรรดาประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีไทยกับสิงคโปร์เท่านั้นที่จัดระบบป้องกันโคโรนาไวรัสได้ดี แต่ที่ทำความเสียหายมหาศาลคือการยอมให้มีการจัดการชกมวยของเวทีมวยลุมพินี อันเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วประเทศ

เราโชคดีที่ฐานะการเงินและการคลังยังมั่นคง ทำให้พอที่จะมีนโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง พอจะรองรับผลกระทบที่ถาโถมเข้ามาได้อย่างน้อยก็ปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้า รวมเป็น 3 ปี

ถ้ารัฐบาลตัดสินใจใช้งบประมาณร้อยละ 10 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งก็ตกประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี ติดต่อกัน 3 ปี หนี้สาธารณะจะขยายตัวจากร้อยละ 42 ของรายได้ประชาชาติเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ และถ้าหากบัญชีเดินสะพัดยังไม่ขาดดุล เนื่องจากรายจ่ายเพื่อการนำเข้าลดลงมากกว่ารายรับจากการส่งออก เพราะหนี้สินของครัวเรือนจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก ในยามที่สินค้าราคาเกษตรที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล จะมีราคาอ่อนลงตามภาวะการค้าระหว่างประเทศ

ปัญหาของการจัดการก็คือ เมื่อตั้งเป้าว่าจะใช้เงินประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทพยุงเศรษฐกิจแล้ว จะใช้จ่ายเงินอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ใช้อย่างไรเพื่อเป็นการลงทุนที่จะมีของเหลือเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อไปในอนาคต จะใช้จ่ายอย่างไรให้ถึงมือของครัวเรือน ให้ครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ตามแต่เขาจะเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด

เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย