กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รายงาน​ครม.กรณีเชฟรอน

  • ประเทศไทยเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ​ 
  • กรณีรื้อถอนแท่น​ปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ
  • ปตท.ยืนยันปตท.สผ.พร้อมเข้าพื้นที่ผลิต      

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์​อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ (ชธ.) เปิดเผยว่า​   กระทรวงพลังงาน ได้มีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หลังจากที่บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  ที่เป็นบริษัท ลูก ของบริษัทเชฟรอนจำกัด  แห่งสหรัฐฯ ได้เข้าสู่กระบวนการ อนุญาโตตุลาการในการ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในประเด็นปัญหาการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่จะหมดสัญญาสัมปทานเดือนเม.ย. 2565 ซึ่งยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงในการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและจะกระทบการผลิตก๊าซธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  

นายสราวุธ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินการผลิตต่อหลังหมดอายุคือ  บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน)  หรือ ปตท.สผ.ที่จะต้องเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการผลิตให้ต่อเนื่องและไม่มีผลกระทบซึ่งเป้าหมายเดิมได้กำหนดว่าผู้รับสัมปทาน รายใหม่ต้องได้รับความร่วมมือกับรายเดิมที่ผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ในขณะนี้ซึ่งก็คือ เชฟรอน  เพื่อเริ่มเข้าพื้นที่ได้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แต่พอมีปัญหานี้ยอมรับการผลิตของทั้งแหล่ง เอราวัณ-บงกชไม่เป็นไปตามเป้าหมายคือ​1,500ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ปี2565 ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมแก้ปัญหาคือ จะมีการเตรียมนำเข้า  ก๊าซธรรมชาติ​เหลว(แอลเอ็นจี)​​ เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่อาจจะหายไปจากระบบการผลิตปกติ

 นายอรรถพล​ ฤกษ์พิบูลย์ ​ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ​ ใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด กล่าวว่า​ยังเชื่อมั่นว่าปตท.สผ.ในฐานะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต​ ก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ​จะเข้าพื้นที่​และสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ต่อเนื่อง​ตามกำหนดการที่วางไว้

ทั้งนี้ ​ ปตท.ในฐานะดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ​ได้ร่วมวางแผนกับกระทรวงพลังงาน​เพื่อเตรียมพร้อมด้วยการพิจารณาเรียกก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในขณะนี้ จากทุกแหล่งในประเทศ​เพิ่มขึ้นจากปกติและจัดหาแอลเอ็นจีนำเข้าทั้งสัญญาแบบระยะยาว​5.2ล้านตัน/ปี​และสัญญาระยะสั้นเพิ่มเติม​โดยมีสถานีรับ-จ่ายที่สถานีมาบตาพุด​และหนองแฟบ จังหวัดระยอง เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว ​เรียบร้อยแล้ว

นายอรรถพลกล่าวว่า  ปตท.สผ.ในฐานะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต​ในแหล่งเอราวัณเดิมตั้งเป้าหมายจะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มอีกจำนวน 8 แท่น ในปีนี้ และปตท.สผ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐบาลรับโอนมาจากเชฟรอน ตามสัดส่วนเฉพาะที่ใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น​ ในขณะที่กฎกระทรวงพลังงาน เรื่องการกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559  ภายใต้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปิโตรเลียม ได้กำหนดให้เชฟรอนวางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รัฐบาลรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐบาลไม่ได้รับโอนอีก 49 แท่นด้วย​ โดยในการฟ้องอนุญาโตตุลาการ​ฝ่ายรัฐบาลของไทยได้ตรียมวงเงินงบประมาณดำเนินการไว้สู้คดี 450 ล้านบาท