กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำชับผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย

.เตรียมพร้อม24ชั่วโมง รับมือโนอึล
.กฟผ. และปตท.จัดทัพดูแลพลังงาน
.ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนผ่าวิกฤต

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยทุกบริษัท ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือในกรณีหากพายุโซนร้อน “โนอึล”ที่ เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทย ล่าสุดสถานการณ์ ณ วันที่19 ก.ย.ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ทั้งนี้ กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยได้ประสานข้อมูล และติดตามร่วมกับบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์พายุต่าง ๆ อยู่ในแผนรองรับสภาวะวิกฤติการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลของบริษัทผู้รับสัมปทาน โดยกรมฯได้แจ้งให้บริษัทฯ ติดตามสถานะของพายุตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานต่อกรมฯอย่างต่อเนื่อง

“การประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของพายุของกรมฯ จะแบ่งเป็น 4 ระดับตามสี โดยเรียงลำดับจากระดับความเสี่ยงน้อยไปจนถึงความเสี่ยงมากที่สุด ประกอบด้วย สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง โดยสถานการณ์ปัจจุบัน แหล่งผลิตปิโตรเลียมทุกแหล่งในอ่าวไทยมีระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับสีเขียว ซึ่งยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นที่ต้องอพยพพนักงานจากแท่นผลิตปิโตรเลียมขึ้นฝั่ง”

นอกจากนี้ กรมฯได้กำชับให้บริษัทผู้รับสัมปทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่พายุทวีความรุนแรงขึ้น โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรบนแท่นผลิต และการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อประชาชนครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบส่งไฟฟ้า ได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเสาไฟฟ้าชั่วคราวและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้รองรับกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงแหล่งผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ได้มีการประสานเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงที่เพียงพอ ด้านโรงไฟฟ้าและการรองรับน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ได้มีการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และให้มีการตรวจสอบความพร้อมของเขื่อนทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ได้แก่ เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย เขื่อนน้ำพุง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร รวมถึงเขื่อนในภาคเหนือที่อาจได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมไฟฟ้าในประเทศ

สำหรับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ก็ได้ มีมาตรการในการป้องกันและตรวจสอบอุปกรณ์และระบบถังเก็บน้ำมันใต้ดินที่สถานีบริการน้ำมันให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมัน ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่มีน้ำปนเปื้อน

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ สำนักงานพลังงานจังหวัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะเตรียมการร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน ในการตรวจคุณภาพน้ำมันกรณีสถานีบริการถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งลงพื้นที่ให้คำปรึกษากับชาวบ้านกรณีอุปกรณ์ด้านพลังงานชุมชน อาทิ บ่อหมักก๊าซชีวภาพ พาราโบล่าโดมอบแห้ง หรือแผงโซลาร์เซลล์ ที่อาจได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ดังกล่าว