กรมเจ้าท่าปั้น “พัทยาโมเดล” ดึง 5 ยุทธศาสตร์คุมมาตรฐานความ ปลอดภัยทางน้ำ ยกระดับการท่องเที่ยวทางน้ำ“อ่าวพัทยา-เกาะล้าน”

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ กรมเจ้าท่าได้เตรียมนำยุทธศาสตร์เพื่อการยกระดับความปลอดภัยทางน้ำเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่ไทยติดอันดับโลก เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่อ่าวพัทยาและเกาะล้าน จ.ชลบุรี สู่การพัฒนาเป็นโมเดล ก่อนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพราะพื้นที่ทั้งสองแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมทางน้ำหลากหลายรูปแบบ จึงต้องมีการบริหารจัดการกำหนดพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน

ภายใต้การบริหารจัดการในกิจกรรมทางน้ำตามยุทธศาสตร์ของกรมเจ้าท่า ได้ออกมาตรการเพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยในระดับสูงสุด 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การจัดระเบียบพื้นที่ทางน้ำ (Zoning) มีการกำหนดขอบเขตการใช้พื้นที่ทางน้ำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การวางทุ่นกำหนดเขตว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ เป็นการเฉพาะ การวางทุ่นเครื่องหมายจำกัดความเร็วเรือ เพื่อควบคุมพื้นที่การเดินเรือในระดับที่มีความปลอดภัยเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งกำหนดเส้นทางการเดินเรือระหว่างอ่าวพัทยากับเกาะล้าน และกิจกรรมทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการลากร่ม Banana boat พร้อมกำหนดพื้นที่ท่าจอดเทียบเรือให้มีความเหมาะสม

2. กำกับดูแลและควบคุมการจราจรทางน้ำ (Monitoring) ด้วยพื้นที่อ่าวพัทยาและเกาะล้านมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นสูง และปริมาณเรือที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมเจ้าท่าได้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการจัดระบบ กำกับดูแลและควบคุมจราจรในพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับกำกับดูแลด้านราคาการให้บริการ โดยมีศูนย์ควบคุมการจราจร และสามารถให้คำแนะนำผ่านระบบวิทยุสื่อสาร ระหว่างเรือ ท่าเทียบเรือ และศูนย์ควบคุมวิทยุโดยตรง รวมทั้งติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในท่าเทียบเรือ และจุดจอดเรือ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทางน้ำร่วมกันออกตรวจตราพื้นที่ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจน้ำ, เมืองพัทยา, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี และให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ AIS (Automatic Identification System) เพื่อใช้ตรวจจับความเร็วของเรือโดยสารสาธารณะ และตำแหน่งเรือที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที

3. บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพัทยา ในการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการเชิงรุกในการรณรงค์ด้านความปลอดภัย การประชาสัมพันธ์ การช่วยเหลือกู้ภัย การรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ

4. การรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัย ในการมุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุมากกว่าการเยียวยา โดยการกำกับดูแลให้ความรู้และฝึกอบรม ผู้ควบคุมเรือ คนเรือ ทั้งเรือโดยสารสาธารณะ และเรือส่วนบุคคล โดยการออกใบรับรองการทำงานบนเรือโดยสารสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องการันตีและสร้างมาตรฐานความปลอดภัย 

5. การปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนา โดยกรมเจ้าท่าจะเร่งยกระดับกฎหมายในเรื่องของมาตรฐานเรือ อุปกรณ์เรือ มาตรฐานความรู้ความสามารถของผู้ควบคุมเรือ และคนประจำเรือ การเพิ่มวงเงินคุ้มครองการประกันภัยสำหรับเรือโดยสาร ซึ่งจะครอบคลุมผู้ประสบภัยทางน้ำ เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกัน กำกับดูแลและเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ของกรมเจ้าท่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเส้นทางน้ำให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ภายหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และไม่สามารถให้บริการได้ในช่วงที่ผ่านมา โดยธุรกิจการเดินเรือมีความสำคัญในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล