กรมอุตุนิยมวิทยา -กรมชลประทาน ยกระดับบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

  • จัดทำแผนงานและโครงการในอนาคต
  • บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
  • ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมฯได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือด้านอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ และ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายก่อสร้าง เป็นสักขีพยาน ณ กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ดร.ชมภารี   กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นมีปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปีค่อนข้างมาก เนื่องจากภูมิประเทศตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมและการเกิดพายุหมุนเขตร้อน ตลอดจนสภาพทางอุทกวิทยามีความผันแปรสูงส่งผลให้ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงนํ้าหลาก และเกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ การชลประทานจึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนทุกภาคส่วน

ในฐานะหน่วยงานตั้งต้นที่ให้บริการข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่กรมชลประทานสามารถนำไปใช้เพื่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำ จะเห็นได้ว่าจากภารกิจที่มีความเกี่ยวโยงกันทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน ได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ดังนั้น การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ จึงถือว่าเป็นการยกระดับการบูรณาการด้านอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยที่บันทึกความเข้าใจนี้จะเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานของทั้งสองฝ่าย โดยมีสาระสำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการแบ่งปันข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดด้านอุตุนิยมวิทยา และอุทกวิทยาที่เกี่ยวข้อง 2. ด้านการศึกษาและการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรม 3. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร และ 4. ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะทำงาน ทั้งการจัดทำแผนงานและโครงการในอนาคต รวมทั้งการดำเนินงานตามกรอบภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน