กรมอนามัย ห่วงสุขภาพผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม “เด็ก-ผู้สูงอายุ” ต้องดูแลเป็นพิเศษ

  • เด็กงดเล่นน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำ
  • ผู้สูงอายุ ระวังการลื่นล้ม
  • ย้ำกินอาหารปรุงสุก ลดเสี่ยงโรค

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมี   ฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวจึงต้องติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ และไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง เนื่องจากผู้สูงอายุสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น การทรงตัวไม่ดีแขนขาอ่อนแรง มีปัญหาทางสายตาและการได้ยิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

“พื้นที่ประสบภัยที่ยังสามารถปรุงอาหารเองได้ ควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และต้องเก็บในภาชนะที่มีการปกปิด เพื่อป้องกันแมลงวันตอม ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้ช้อนหรือทัพพี ตักอาหาร ส่วนอาหารกล่อง ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทบูดเสียง่าย จัดอาหารเป็นชุดแยกข้าวกับกับข้าว บรรจุในภาชนะที่สะอาด ควรกินหลังปรุงภายใน 2 ชั่วโมง ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะอาหารก่อนบริโภคว่าไม่มีกลิ่นหรือลักษณะผิดปกติ และไม่ควรนำอาหารที่ตกค้างจากมื้อก่อนมาบริโภค ควรเลือกดื่มน้ำจากขวดบรรจุปิดสนิท หรือดื่มน้ำสะอาดผ่านการกรองหรือต้มด้วยความร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ และลดเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค นอกจากนี้ ประชาชนควรใส่ใจในเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะการขับถ่าย อย่าขับถ่ายลงในน้ำ หากไม่สามารถถ่ายอุจจาระในส้วมได้ ให้ถ่ายใส่ถุงดำ ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่น หรือถ้าไม่มีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังถ่ายอุจจาระเสร็จให้มัดปากถุงให้แน่น แล้วใส่ถุงขยะอีกครั้งก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคW

 สำหรับบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากพายุโกนเซินจนต้องมีการอพยพประชาชนมารวมตัวใน     ศูนย์พักพิง นอกจากเฝ้าระวังและคัดกรองความเสี่ยงโรคโควิด-19 แล้ว ยังต้องคุมเข้มสุขอนามัยส่วนบุคคล การปรุงประกอบอาหารและการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรค หากมีจุดปรุงประกอบอาหารต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวให้ห่างจากห้องส้วมและ ที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย หรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้ ที่สำคัญควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม