กรมอนามัย ห่วงมาตรฐาน “สวนน้ำ”จ่อประสานอปท. ตรวจสอบคุณภาพ

  • ย้ำ ต้องปลอดภัย-สะอาด
  • ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ
  • ติดป้ายแจ้งเตือนความลึกของน้ำ

วันที่ 1 เมษายน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ประชาชนนิยมไปเที่ยวคลายร้อนตามแหล่งน้ำ อย่างสวนน้ำก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้สวนน้ำจะต้องมีการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดเรื่องความปลอดภัยทั้งโครงสร้าง อาคาร เครื่องเล่นต้องมั่นคง ปลอดภัย ทำความสะอาดง่ายมี และต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ มีการติดป้ายแจ้งเตือนความลึกของน้ำ ห้ามปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงน้ำ ที่สำคัญคือการควบคุมน้ำในสระให้มีปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในสระตามมาตรฐาน คือ 0.6-1.0 PPM ไม่เช่นนั้นจะไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ต้องมีผู้ดูแลสระเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหกล้ม อุบัติเหตุ จมน้ำได้ เป็นต้น

นพ.อรรถพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเรามีสวนน้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข ได้มอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นเจ้าพนักงาน เป็นผู้ออกใบอนุญาต แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้รายงานกลับมาที่กรมอนามัย ตนจึงไม่ทราบว่าทั่วประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ การทำงานต่างๆ รวมถึงการตรวจคุณภาพมาตรฐานเช่นกัน ก็เป็นอำนาจหน้าที่ อปท. แต่กรมอาจจะประสานขอความร่วมมือ โดยเฉพาะหากมีการร้องเรียนเข้ามาที่กรมฯ ก็สามรถประสานให้ อปท.ไปดำเนินการตรวจสอบได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่กรมอนามัยมากนัก อาจะเพราะมีการร้องเรียนตรงไปที่ อปท.เลย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 ทำให้สวนน้ำต้องปิดบริการไปแล้วเพิ่งจะกลับมาเปิดกิจการใหม่อีกรอบ บางแห่งอาจจะมีการละเลยเรื่องคุณภาพของสวนน้ำ และยังไม่ได้ทำการปรับปรุง อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ความปลอดภัย เช่น มีตะไคร่เกาะ เป็นต้น ดังนั้นสวนน้ำต้องดูแลใส่ใจ เพราะประชาชนจะมาเล่นน้ำคลายร้อนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หากประชาชนพบปัญหาคุณภาพสระน้ำ สวนน้ำ สามารถร้องเรียนมาที่กรมอนามัย หรือจะร้องเรียนไปยัง อปท.ในท้องที่นั้นๆ ได้เลยหากพบว่ามีปัญหาจริงๆ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีการสั่งปิดปรับปรุง หากฝ่าฝืนไม่ยอมปรับปรุงแต่กลับเปิดให้บริการจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

“ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าร้อนจะมีเด็กๆ ไปเล่นน้ำไม่ว่าจะสวนน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเตือนไปยังผู้ปกครองให้ระมัดระวัง หากไม่ได้รับการดูแล ที่ผ่านมาจะมีประเด็นเรื่องเด็กจมน้ำมาตลอด ดังนั้นต้องดูแล อย่าให้เล่นน้ำลำพัง หากเป็นไปได้ควรเล่นในสถานที่ที่มีการป้องกัน มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีไลฟ์การ์ด และควรฝึกให้ลูกๆ ว่ายน้ำเป็น” นพ.อรรถพล กล่าว