กรมอนามัย ย้ำ ประชาชนปฏิบัติมาตรการป้องกันโควิด-19 จริงจัง เข้มข้น ทุกที่ ทุกโอกาส ทุกเทศกาล

  • ขอให้ยึดมั่นปฏิบัติจริงจังมาตรการป้องกัน โควิด-19 ทุกที่ ทุกโอกาส ทุกเทศกาล
  • เน้นย้ำประชาชนปฏิบัติเข้มตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
  • ทั้งในช่วงเทศกาลตรุษจีน และความพร้อมเปิดเรียนแบบ On-Site ลดเสี่ยงโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ทุกภาคส่วนยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ กรมอนามัยมีความห่วงใยใน 2 ประเด็นด้วยกัน เนื่องจากจะเป็นการรวมกลุ่มของญาติพี่น้อง และกลุ่มของนักเรียน คือความปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากประเพณีตรุษจีนที่สืบต่อกันมา จะมีการกลุ่มของญาติพี่น้อง ทั้งวันไหว้ วันจ่าย และวันเที่ยว โดยทั้งสามวันนี้ สมาชิกทุกคนในครอบครัวยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเด็นการเปิดเรียนแบบ On-Site นั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้ง 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม ที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้นข้น และปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในช่วงของการกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมทั้งในเรื่องของเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ หรือการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียน On-site จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนเฝ้าระวังป้องกันตนเอง และปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) ขณะที่สถานประกอบการต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นระยะ ๆ หากพบว่าตนเองเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK และขอความร่วมมือในการเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับทุกคน ทุกที่ ทุกโอกาส และทุกเทศกาล

ด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลมงคลของคนไทยเชื้อสายจีน อาจมีพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่มีความสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 ได้ เช่น มีการรวมญาติพบปะสังสรรค์ทั้งในบ้าน หรือร้านอาหาร รวมถึงการ เดินทางไปตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อซื้อชุดเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตลอดจนการเดินทางไปศาสนสถานหรือศาลเจ้า เพื่อไปขอพรหรือการไหว้เจ้า จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1) วันจ่าย : ควรวางแผนการซื้อและใช้เวลาให้สั้นที่สุด เลือกซื้อสิ้นค้าสดใหม่ จากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่มีการประเมิน Thai Stop COVID 2 Plus หรือจากร้านค้าที่มีระบบออนไลน์ แต่หากต้องการจับจ่ายในตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง เลี่ยงจุดแออัด 2) วันไหว้ : ควรล้างวัตถุดิบให้สะอาด ปรุงอาหารสุกทุกเมนู หากทิ้งอาหารไว้นานหลายชั่วโมงให้อุ่นอาหารอีกครั้งก่อนนำมาบริโภค ลดการเผากระดาษ ใช้ธูปสั้น หรือธูปไฟฟ้า เลี่ยงการปักธูปลงในอาหารโดยตรง รวมถึงจัดสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมทั้งสวมหน้ากากตลอดเวลาขณะที่ทำกิจกรรม และ 3) วันเที่ยว : ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง เลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หากมีการใช้จ่าย เลือกใช้ระบบออนไลน์ เลือกใช้บริการจากสถานประกอบการ แหล่งท่องเที่ยวที่มีสัญลักษณ์ Thai Stop COVID 2 Plus หรือ SHA+ และเมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้อัตราผู้ที่ติดเชื้อเดือนมกราคม 2565 พบเด็กอายุ 0-19 ปี ติดเชื้อ คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมีเด็กอายุ 13-19 ปี ติดเชื้อมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น โรงเรียนจึงควรมีมาตรการเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเปิดเรียน On-Site ด้วยหลัก 3T 1V คือ 1) T : Thai Stop COVID Plus โรงเรียนต้องประเมินตนเอง เตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน ซึ่งมีสถานศึกษาประเมิน Thai Stop COVID Plus แล้ว จำนวน 43,430 แห่ง พบผ่านประเมิน ร้อยละ 95.28 ส่วนที่ประเมินไม่ผ่าน ต้องดำเนินการปรับปรุงให้แป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หรือประเมินตนเองซ้ำ 2) T: Thai Save Thai นักเรียน ครู และบุคคลากรทางการศึกษาประเมินความเสี่ยงตนเอง เป็นประจำ และ 3) T: Test เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม ตรวจคัดกรอง เช่น ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือเมื่อมีอาการ และ 1V คือ V: Vaccine ครู บุคลากร ผู้ปกครอง ฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ เด็กอายุ 5-17 ปี ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ7 มาตรการเข้มอย่างเคร่งครัด พร้อมดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุกรณีติดเชื้อโควิดในสถานศึกษา 2565 ดังนี้ 1) กรณีติดเชื้อ 1 ห้องเรียน 1-2 ราย ให้สถานศึกษาปิดห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อ 3 วัน เพื่อทำความสะอาด งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มระหว่างห้องเรียน 2) กรณีติดเชื้อมากกว่า 2 ราย หรือมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้สถานศึกษาปิดห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อ 3 วัน เพื่อทำความสะอาด งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม ทุกกิจกรรม พิจารณาปิดเรียนโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สำหรับครูและนักเรียน ทั้งในกรณีที่ 1 และ 2 ให้ผู้ติดเชื้อ รับการรักษา หากมีความเสี่ยงสูงให้ตรวจหาเชื้อ งดเรียน On-Site แต่หากมีความเสี่ยงต่ำ ให้ยังคงเรียนแบบ On-Siteแต่สังเกตอาการ ประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” และ 3) ในกรณีที่พบการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชน ให้สถานศึกษาพิจารณา ปิดเรียนโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากสามารถเปิด On-Site ได้ ต้องประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดส่วนครูและนักเรียน ให้ปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม และสำหรับโรงเรียนประจำปฏิบัติตาม Sandbox : Safety Zone in School อย่างเคร่งครัด