กรมสรรพากร คาดปี 64 รายได้สูญหายเกือบ 120,000 ล้านบาทหลังออกมาตรการบรรเทาพิษโควิด-19

  • คาดกฎหมาย e-Service มีผลบังคับใช้ปีหน้า
  • ดึงรายได้ปี 64 กรมเพิ่ม 5,000 ล้านบาท
  • ยันใช้เป้ารายได้เดิม 2.085 ล้านล้านบาท  

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังเปิดงานนวัตกรรมการให้ความรู้ทางภาษีในรูปแบบดิจิทัล ที่กรมสรรพากร จัดร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) ว่า ในปีงบประมาณ 2564 กรมสรรพากรยังยึดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้เดิม  2.085 ล้านล้านบาท ตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แต่ต้องยอมรับว่ารายได้ในปี 64 จะหายไปประมาณ กว่า 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมากรมออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 หลายมาตรการ อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1.5% จากเดิม 3%, การเพิ่มสิทธิ์ลดหย่อนสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่ปรับปรุงสถานประกอบการ 2.5 เท่า, การลดหย่อนภาษีให้ 3 เท่า สำหรับผู้ประกอบการที่มีจ้างงานต่อเนื่อง การลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการลงทุนเครื่องจักรใหม่ เป็น 2 เท่า เป็นต้น รวมถึงการออกโครงการช้อปดีมีคืน ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะเริ่มจ่ายวันแรก ในวันที่ 23 ต.ค.63 นี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 19,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งจะทำให้กรมสูญเสียรายได้รวมเกือบ 120,000 ล้านบาท

ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กรมสามารถจัดเก็บได้ 1.833 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ปรับลดลงหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ตั้งไว้ที่ 1.82 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 2.116 ล้านล้านบาท

“คาดว่ารายได้ภาษีของกรมฯ ในปี 64 นี้จะหายไปมากกว่าที่คาดการณ์ ไว้คงไม่ถึง 200,000 ล้านบาท ส่วนเป้าจัดเก็บรายได้ปี 64 นั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จะประเมินตัวเลขอีกครั้งว่าจะทำได้ตามเป้าหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังยึดเป้าหมายเดิมไปก่อน”

ส่วนเรื่องพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ e-Service นั้น ขณะนี้กฎหมายอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอผ่านการพิจารณาจากสภาฯวาระสุดท้ายเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากผ่านความเห็นชอบแล้วจะมีการปราศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการหลังจากนั้น 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งคาดว่ากฎหมายนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ในปีหน้า

 “หากกฎหมาย e-Service มีผลบังคับใช้ จะทำให้กรมมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท สูงกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาใช้บริการดูหนัง ฟังเพลง ซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การจัดเก็บรายได้ในปี 2564 เป็นไปตามเป้าหมาย”

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการช้อปดีมีคืน จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้มากกว่าเมื่อครั้งที่ออกมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท โดยสูญเสียรายได้ไปเพียง 9,600 ล้านบาท แต่เชื่อว่ามาตรการที่ออกมานี้ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้เพิ่มขึ้น และทำให้กรมฯ มีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)เพิ่มขึ้นตามมา