กรมวิชาการเกษตร-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยพัฒนากัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

  • ร่วมพัฒนาพืชสกุลกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร
  • เพื่อพัฒนาประเทศสู่การเป็นผู้นำความเป็นเลิศทางวิชาการของเอเชีย
  • สู่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในอนาคต

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานรองรับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์พืชกัญชา กัญชง ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พืชชนิดกัญชา กัญชง ด้านสายพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูก และการดูแลรักษาที่ดี เพื่อให้ผลผลิตที่ได้ตามมาตรฐานการจัดการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) ซึ่ง กรมวิชาการเกษตร ได้มีการลงนาม MOU กับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวข้องกับการวิจัยกัญชา กัญชง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 นี้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมกันวิจัย พัฒนา และทดสอบสายพันธุ์กัญชา สายพันธุ์ “เพชรชมพู 1-5” ซึ่งกัญชาทั้ง 5 สายพันธุ์มีลักษณะดี ปริมาณสารสำคัญ THC เด่น ทำให้ง่ายต่อการสกัดและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูก การควบคุมป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับใช้ทางการแพทย์ โดยจะทดลองในสัตว์และมนุษย์ต่อไป ซึ่งทางศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติด เป็นศูนย์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence) และเพื่อก้าวเป็นผู้นำความเป็นเลิศทางวิชาการของเอเชีย อันจะสามารถยกระดับการพัฒนาวิจัยพืชกัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกระดับ ทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจทุกประเภทเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ประเทศต่อไป

สำหรับขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการในด้านวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกและการควบคุมป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกัญชาด้วยชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ที่ปลอดภัยจากโลหะหนัก และสารพิษ สู่เกษตรกรและผู้สนใจ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงการใช้ทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย อาทิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูล สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ตามที่จะตกลงร่วมกันในอนาคต อีกทั้งความร่วมมือกันในการยื่นขออนุญาตและสนับสนุนการบริหารกิจการสำหรับปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงการขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนใดๆ ที่จะส่งเสริมให้การดำเนินการโครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ พร้อมด้วยความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร