กรมรางฯ มั่นใจเร่งเครื่องก่อสร้าง “รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน” หลังโควิดคลี่คลาย

  • อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
  • มั่นใจหลังจากนี้ งานก่อสร้างจะคืบหน้าอย่างรวดเร็ว
  • ลั่นไม่มีผลกระทบขาดแคลนแรงงานเหมือนก่อนหน้านี้
  • ย้ำโครงการจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2570

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ตามที่กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหลังโครงการแล้วเสร็จ  จะสามารถเชื่อมโยงไทย  กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

นายพิเชฐ กล่าวว่า ภายหลังเร่งรัดการดำเนินการสัญญางานโยธาของโครงการจนสามารถลงนามและก่อสร้างได้กว่า10 สัญญา จากเดิมที่มีการลงนามสัญญาและก่อสร้างงานโยธาเพียง 1 สัญญา โดยในวันนี้ กรมการขนส่งทางราง ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง 3 สัญญาที่ ได้แก่ 

สัญญาที่ 2 – 1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ,สัญญาที่ 3 – 4 ช่วงบันไดม้า ลำตะคอง  และสัญญาที่ 4 – 7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย 

“ก่อนหน้านี้พบว่า โครงการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเพียง 11.85% ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น การขาดแคนแรงงาน  ในช่วงการระบาด แต่ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดคลี่คลายแล้ว มั่นใจว่าหลังจากนี้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จะเดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำชับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2570 ตามแผนงานที่วางไว้” นายพิเชฐ กล่าว 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางรางได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพสถานีรถไฟที่เข้าร่วมกิจกรรมประกวด “สถานีดีพร้อม” ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุขด้วยคุณภาพดีพร้อม “DRT creates happiness of stations” จำนวนทั้งสิ้น 43 สถานีแบ่งเป็นกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศจำนวน 15 สถานี และกลุ่มสถานีในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมนำร่องเพื่อประเมินคุณภาพสถานีรถไฟ ภายใต้โครงการโครงการศึกษาจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศที่ ดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ และจาก43 สถานีที่เข้าร่วม  ได้มีการพิจารณาคัดเลือกสถานีที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว จำนวน 18 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 8 สถานี ได้แก่ สถานีศรีสะเกษ สถานีบุรีรัมย์ สถานีนครราชสีมา สถานีเชียงใหม่ สถานีนครลำปาง สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา สถานีชุมทางหาดใหญ่ และสถานีหัวหิน 

สำหรับกลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 11 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ (RN01/RW01) สถานีดอนเมือง (RN08) สถานีพญาไท (A8) สถานีคลองบางไผ่ (PP01) สถานีหมอชิต (N8) สถานีแยก คปอ. (N23) สถานีคูคต (N24) สถานีลาดพร้าว (BL15) สถานีเพชรบุรี (BL21) สถานีสุขุมวิท (BL22) และสถานีหลักสอง (BL38)