กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยธุรกิจอาหารแช่แข็งสดใส

  • ปี 64 ฟันกำไรทะลักกว่า 1.05 หมื่นล้านบาท
  • มูลค่าตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีทะลุ 3 แสนล้าน
  • ชี้ยังมีช่องให้รายใหม่เข้าตลาดและรายเก่าขยายตลาดได้

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจอาหารแช่แข็งของไทย ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงโควิดระบาด เห็นได้ว่า มูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี (ปี 62-64) อยู่ในระดับหลักหลายแสนล้านบาท โดยปี62 อยู่ที่ 307,088.48 ล้านบาท ปี 63 อยู่ที่ 283,864.95 ล้านบาท และ ปี 64 อยู่ที่ 303,556.17 ขณะที่ผลประกอบการยังคงเป็นบวกต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะปี 64 มีผลกำไรถึง 10,568.88 ล้านบาท ปี 62 กำไร 7,363.03 ล้านบาท และปี 63 กำไร 7,001.00 ล้านบาท   

สำหรับผลกำไรดังกล่าว สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าแช่แข็งของไทย 8 รายการ คือ ผลไม้แช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาและปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปูสดแช่เย็นแช่แข็งนึ่งหรือต้ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 65 อยู่ที่ 87,896 ล้านบาทมากกว่าการส่งออกของปี 63 ทั้งปีที่ 85,214 ล้านบาท ส่วนปี 64 อยู่ที่ 94,847 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน พบว่า ช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.65 มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ 92 รายเพิ่มขึ้น 42 ราย หรือ 84% จากปีช่วงเดียวกันของปี 64 ที่มี 50 ราย ขณะที่ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 299.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 283.62% หรือเพิ่มขึ้น221.28 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปี 64 ที่มีทุน 78.02 ล้านบาท โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนต.ค.65 มีธุรกิจนี้ที่ดำเนินการทั่วประเทศ 833 ราย มูลค่าทุนรวม 55,786.70 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่า นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 48,091.14 ล้านบาท สัดส่วน 86.20% ของเงินลงทุนทั้งหมด ตามด้วย ญี่ปุ่น ทุน 3,629.82 ล้านบาทสัดส่วน 6.51% จีน 1,038.45 ล้านบาท สัดส่วน 1.86% สิงคโปร์ ทุน 813.89 ล้านบาท สัดส่วน 1.46% เป็นต้น  

“ธุรกิจอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และส่งออก เพราะสามารถเก็บรักษาได้นาน ได้เปรียบในการรักษาความสด และช่วยลดความถี่ในการออกไปซื้อของ มีกลุ่มลูกค้าทั้งคนทั่วไป และร้านอาหาร อีกทั้งยังเติบโตตามการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ ที่เป็นช่องทางจำหน่ายหลักที่หาซื้อได้ง่าย มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ผู้ประกอบการที่สนใจธุรกิจนี้ ในตลาดยังคงมีพื้นที่สำหรับนักลงทุนรายใหม่ และพร้อมให้รายเก่าขยายกิจการ แต่มีปัจจัยที่ต้องคำนึงนอกจากต้นทุนด้านวัตถุดิบการเกษตรแล้ว คือ ต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะเมล็ดพลาสติก”