กรมทางหลวงชนบทเค้าจัดให้!ต้นปี 66 ได้เหยียบไม่เกิน 120 กม.ต่อ ชม. ระยะทาง 37.6 กม. อีก 2 เส้นทาง”ถนนราชพฤกษ์ -ถนนนครอินทร์”

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือ ทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2546 โดยกำหนดบังคับแก่ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่มีทางเดินรถ ซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องจราจรขึ้นไป มีเกาะกลางถนนแบบกำแพง และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ตามที่ผู้อำนวยการทางหลวงประกาศ โดยกำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น ในส่วนของถนนที่อยู่ในความดูแลของ ทช. นั้น ในต้นปี 66 นี้ ทาง ทช.ได้พิจารณาให้ถนน 2 สายทาง คือ ถนนราชพฤกษ์ และ ถนนนครอินทร์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ให้ประชาชนที่สัญจร2เส้นทางดังกล่าวสามารถขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้

ทั้งนี้ถนนของทางหลวงชนบททั้ง  2 สายทาง ดังกล่าวได้แก่ ถนนทางหลวงชนบทสาย นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ระหว่าง กม.ที่ 17+000 ถึง กม.ที่ 42+200 ระยะทาง 25.2 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบทสาย นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ระหว่าง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 12+400 ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร รวมระยะทางดำเนินการ 37.6 กิโลเมตร โดยขณะนี้ ทช.ได้มีการติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง งานป้ายจราจร, งานป้ายจราจรแขวนสูง, งานติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ, ระบบควบคุมการใช้ช่องจราจรบนทางหลวง, ระบบควบคุมการใช้ความเร็วจำกัดแต่ละช่องจราจร, ระบบแนะนำการใช้ความเร็วแบบปรับเปลี่ยนได้ และระบบสำรวจข้อมูลสภาพอากาศ  ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 65 นี้ ส่วนงานก่อสร้างติดตั้งกำแพงคอนกรีตแบบ Single Slope Barrier บนทางหลวงชนบท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 66 ดังนั้นทั้ง 2เส้นทางจะเปิดให้รถสัญจรขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในต้นปี 66 

นายอภิรัฐ กล่าวต่อว่า เมื่อทั้ง 2 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยในการปรับพฤติกรรมการขับขี่และสื่อสารให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามที่กฎกระทรวงกำหนดความเร็วฯ พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ ซึ่งนอกจากจะกำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องจราจรขวาสุดยังกำหนดให้ใช้ความเร็ว ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยนั้น ยังช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุในลักษณะยานพาหนะเสียหลักข้ามช่องจราจรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เป็นกองทุนสร้างเสริมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนที่มีภารกิจในการเสริมสร้างมาตรฐานระบบการขนส่งทางถนนอย่างปลอดภัย เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานทั้งหมด