กรมทางหลวงกางแผน“เมกะโปรเจค”เท 2.5 แสนล้านผุดมอเตอร์เวย์ 5 เส้นหวัง กระตุ้นลงทุน-ปั้มหัวใจเศรษฐกิจปี 65

กรมทางหลวงกางแผนลงทุนใหญ่กว่า 2.5 แสนล้าน สร้างโครงการมอเตอร์เวย์ป้ายแดงอีก 5 เส้นทาง ถือเป็นความหวังในการช่วยปลุกเศรษฐกิจให้พ้นจากพิษไข้ และช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน หลังหลายสถาบันเศรษฐกิจหลายสำนัก ได้ออกมาคาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ 4-5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นกลจักรสำคัญ 

นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง กล่าวถึงแผนลงทุนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)ที่กรมทางหลวงมีแผนที่จะดำเนินการในช่วง 20 ปีนี้ (พ.ศ.2560-2579) ว่า การดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ 1.โครงการที่ดำเนินการไปแล้ว ปัจจุบันมี 3 โครงการ, 2. แผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่ได้มีการจัดอันดับความสำคัญที่จะดำเนินการในปี 65 เป็นต้นไปจำนวน 5 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2.5 แสนล้านบาท และ 3.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง จำนวน 5 เส้นทาง

ทั้งนี้ในการลงทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)ส่วนแรกได้มีการเร่งรัดติดตามโครงการลงทุนที่ดำเนินการไปแล้ว ให้เสร็จได้ตามแผนที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันมี 3 โครงการ ระยะทางรวม 317 กม. ได้แก่ โครงการ M81 บางใหญ่– กาญจนบุรี  ระยะทาง 96 กม. มูลค่า 62,453 ล้านบาท  ปัจจุบันงานโยธา ก่อสร้างก้าวหน้าแล้ว 63 % งานระบบ และ O&M รูปแบบ PPP Gross Cost ลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อเดือนก.ย.64 คาดเปิดให้บริการปี 66 และเริ่มเก็บค่าโดยสารปี 67 

โครงการ M6 บางปะอิน–นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. มูลค่า 81,121 ล้านบาท ขณะนี้งานโยธาก่อสร้างก้าวหน้าแล้ว 95 % ส่วนงานระบบ และ O&M รูปแบบ PPP Gross Cost ลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อเดือนก.ย.64 โดยเริ่มส่งมอบพื้นที่และเริ่มงานในเดือนธ.ค.64 คาดจะเปิดบริการปี 66 และเริ่มเก็บค่าโดยสารได้ปี 67 

โครงการ M82 บางขุนเทียน–บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. มูลค่า 32,220 ล้านบาท  โดยงานโยธาช่วงบางขุนเทียน –เอกชัย สร้างก้าวหน้าไปแล้ว 51 %  งานโยธา ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว จะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 64 โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่วนงานระบบทั้งโครงการ พร้อม O&M อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบร่วมลงทุน และคาดเปิดใช้ได้ปี 68

.กางแผนมอเตอร์เวย์ป้ายแดง 5 เส้นทาง

ถัดมาเป็นโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ ที่กรมทางหลวงได้บรรจุในแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติโครงการในรูปแบบร่วมทุนแบบ PPP มีทั้งหมด 5 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยลงทุนได้ปี 65-70 ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า และทำให้เกิดการจ้างงานได้เพิ่ม  มีรายละเอียด ดังนี้  1.มอเตอร์เวย์วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก (M9) วงเงินลงทุน  79,060 ล้านบาท ระยะทางรวม 37 กม. โดยแบ่งเป็นช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง กำลังขออนุมัติรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน  ส่วนช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว คาดก่อสร้างระหว่างปี 66 – 68  ,2. ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมสรุปผลศึกษาเพื่อเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมทุน PPP คาดจะเสนอรูปแบบลงทุนให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาภายในปี 64 โดยมีแผนก่อสร้างปี 66 – 69  3.มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 119 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบและขอบเขตการดำเนินโครงการตามมติของคณะกรรมการ PPP คาดแล้วเสร็จกลางปี 65  เริ่มก่อสร้างในปี 66 แล้วเสร็จปี 67

และ 4.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 18.50 กม. วงเงินลงทุน 29,550 ล้านบาท ขณะนี้ได้ศึกษารูปแบบ PPP และรายละเอียดเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานอีไอเออยู่  และ 5 .มอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 62.60 กม. วงเงินลงทุน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน PPP เสร็จแล้ว และมีแผนดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 67 – 70

.แผนลงทุน พีพีพี พัฒนาที่พักริมทาง

ขณะที่แผนงานสุดท้ายเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง จำนวน 5 เส้นทาง โดยมีทั้งจุดพักรถ สถานที่บริการทางหลวง และศูนย์บริการทางหลวง เส้นทางแรก คือ M 7-1 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง โดยช่วงกรุงเทพฯ – ชลบุรี ได้เปิดให้บริการแล้วทั้งจุดพักรถลาดกระบัง กม.21+700  และสถานที่บริการทางหลวงบางปะกง กม.49+300  ขณะที่เส้นทาง M 7-2 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง  ช่วงชลบุรี – พัทยา เปิดให้บริการแล้วจุดพักรถหนองรี กม.72+500  ส่วนที่ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา กม.93+750 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ปี 67

ถัดมาเป็นเส้นทาง M 7-3 สายกรุงเทพฯ –บ้านฉาง  โดยช่วงพัทยา – มาบตาพุด จุดพักรถมาบประชัน กม.119+20 ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมบริหารเชิงพาณิชย์  ส่วนอีกจุดสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง กม.137+800 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดใช้ได้ปี 67 ถัดมาในเส้นทาง M 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา อยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ปี 66 

และเส้นทาง M 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ เช่นกัน คาดเปิดบริการได้ในปี 66   โดยแผนการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์ทั้งหมดของกรมทางหลวง เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าให้กลับมาขยายตัว ตลอดจนยกระดับศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศได้