กรมชลฯเร่งเพิ่มแก้มลิง-อ่างเก็บน้ำช่วยเกษตรกรแก้วิกฤติภัยแล้ง

  • กรมชลประทาน เดินหน้าแก้ไขปัญหาลำน้ำชีขาดน้ำ
  • เร่งพัฒนาแก้มลิง 11 แห่งเพิ่มความจุให้แล้วเสร็จในกันยายนนี้
  • พร้อมเตรียมแผนพัฒนาแก้มลิงเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง-สร้างอ่างเก็บน้ำ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เร่งแก้ไขปัญหาสภาพน้ำตื้นเขินในลำน้ำชี เนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น รวมทั้งเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคามและเขื่อนร้อยเอ็ด ลงสู่ลำน้ำชี เพื่อให้สถานีสูบน้ำสำหรับการประปาที่อยู่ตลอด 2 ข้างลำน้ำชี มีน้ำเพียงพอในการผลิตน้ำประปา และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนการรักษาระบบนิเวศของลำน้ำด้วย นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลนได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชน ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวออกไป เนื่องจากจะต้องสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นอันดับหนึ่ง

นอกจากนี้ภายในเดือนกันยายน 2562 กรมชลประทานและหน่วยงานทหารพัฒนา จะเร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำชี ให้แล้วเสร็จ 11 แห่ง อาทิ การขุดลอกอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน อ่างเก็บน้ำหนองบ่อ และอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ จ.มหาสารคาม เป็นต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำรองรับฝนระลอกใหม่ที่กำลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 1.34 ล้านลบ.ม. สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป  

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า แหล่งน้ำหลักของประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร คือลำน้ำชีและหนองน้ำสาธารณะที่กระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งมักจะประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก และน้ำแห้งขอดในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำ ดังนั้น การพัฒนาปรับปรุงเพิ่มความจุให้กับแก้มลิงหรือหนองน้ำสาธารณะจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับราษฎรได้ โดยที่ผ่านมากรมชลประทานได้พัฒนาปรับปรุงแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำไปแล้วจำนวน 138 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ถึง 136 ล้าน ลบ.ม.     มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 113,236 ไร่

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า ยังมีหนองน้ำสาธารณะและแก้มลิงกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชีอีกมากกว่า 100 แห่ง ที่ยังสามารถพัฒนาเพิ่มความจุให้เต็มศักยภาพได้อีก เช่น แก่งละว้า สามารถเพิ่มความจุจากเดิมประมาณ 46 เป็น 48 ล้าน ลบ.ม. , แก่งน้ำต้อน สามารถเพิ่มความจุจาก5 เป็น 14 ล้าน ลบ.ม. และบึงกุดเค้า สามารถเพิ่มความจุจาก 22 เป็น 30 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น ซึ่งภายในปี 2565 สำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 จะดำเนินโครงการพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีกจำนวน 129 แห่ง คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพประมาณ 258 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์มากถึง 171,583 ไร่

“นอกจากความพยายามในการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำเดิมแล้ว กรมชลประทาน ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ควบคู่ไปด้วย โดยในปีนี้ มีโครงการอ่างเก็บน้ำที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในเขตจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ.หนองบัวแดง อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อ.บ้านเขว้า และอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้รวมกันประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 127,000ไร่ ขณะนี้มีผลงานความก้าวหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 50 นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2562-2565 จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ อ่างเก็บน้ำห้วยจอมแก้ว และอ่างเก็บน้ำลำเจียง ความจุรวมกันประมาณ 74 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 49,000ไร่”

“สภาพลำน้ำชีมีความยาวตลอดลำน้ำถึง 1,047 กิโลเมตร ไหลผ่าน จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ไปจนถึงยโสธร และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดลำน้ำมีแหล่งเก็บน้ำช่วยชะลอน้ำอยู่บ้าง แต่ไม่มากพอและหลายแห่งตื้นเขิน ทำให้เกิดภาวะวิกฤติทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งแทบทุกปี จำเป็นต้องวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำชีอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย