กรมชลฯเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนป้องน้ำเค็มทะลัก

  • สั่งด่วนเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
  • ป้องกันน้ำเค็มรุกสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปา
  • มั่นใจควบคุมได้แน่นอน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักชลประทานที่ 12 เพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จากวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 65 ล้านลูกบาศก์เมตรเนื่องจากระยะนี้น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ค่าความเค็มสถานีสูบน้ำดิบสำแล ตำบลบ้านกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี สูงขึ้น โดยเกณฑ์เฝ้าระวังอยู่ที่ 0.25 กรัมต่อลิตร ล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 0.20 กรัมต่อลิตร ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) ที่ส่งเลี้ยงพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก นนทบุรี และปทุมธานี กรมชลประทานจึงเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อมาเจือจางค่าความเค็มจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ ซึ่งภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจะต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ได้มีการสั่งเพิ่มการระบายน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่รับน้ำชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากกำหนดให้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาลดปริมาณการรับน้ำเข้าลง 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสลับกันฝั่งละ 3 วัน ประกอบกับ ได้รับความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งริมแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านท้ายเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์สูงตามรอบเวร ทำให้น้ำที่มาถึงเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนวันนี้ (30 ก.ค.) อยู่ที่ 14.31 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าเมื่อวานนี้ 6 เซนติเมตร และคาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นจะทำให้น้ำไหลเข้าแม่น้ำและคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีพื้นที่นาข้าวปลูกแล้วได้รับน้ำอย่างทั่วถึง แต่มาตรการดังกล่าวจะทำระยะสั้นตามการขึ้นลงของน้ำทะเลและความต้องการใช้น้ำของเกษตรกร

นายทองเปลว กล่าวว่า การระบายน้ำท้ายเขื่อนหลัก 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ จากวันละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เมื่อฝนตกลงมาต่อเนื่องเดือนสิงหาคมและกันยายนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาจะทยอยปรับลดการระบายน้ำลงอีก เพื่อเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรองไว้ในในฤดูแล้งที่จะมาถึงและต้นฤดูฝนปี 2563 รวมระยะเวลา 9 เดือน